ลีกไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นลีกที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นลีกอันดับหนึ่งของอาเซี่ยนในเวลานี้ และสร้างความสุขให้กับแฟนบอลทั้งในนามสโมสรและทีมชาติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเชื่อว่ายังจะพัฒนาต่อไปอีกแน่นอน
.
นี่คือ 10 เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย ซึ่งยุคเริ่มต้นนั้น ผู้ที่นิยมชมชอบการเตะฟุตบอลนั้นจะถูกขนานนามว่า "นักเลงลูกหนัง" และคนทั่วไปรู้จักกีฬาชนิดนี้ว่า "หมากเตะ"
1. ปีพ.ศ. 2441 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย คือผู้นำการเล่นฟุตบอลเข้ามาสู่สยาม
2. วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ปีพ.ศ. 2443 เป็นฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ ถือเป็น เกมฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกของประเทศไทยจัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง ระหว่าง “ทีมบางกอก” ซึ่งเป็นคนอังกฤษทั้งหมดกับ “ทีมศึกษาธิการ” ซึ่งมีทั้งชาวสยามและยุโรป ผลเสมอกัน 2 - 2 (0 - 1) หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (THE BANGKOK TIMES) เรียกการเล่นนั้นว่า "ASSOCIATION FOOTBALL" หรือ "การแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับ ของแอสโซซิเอชั่น" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองสยาม และลงบทความวิจารณ์ประโยคหนึ่งว่า "กีฬาฟุตบอล คือศิลปะชิ้นล่าสุดที่ควรค่าแก่การยกย่องในทุกด้าน"
3. ในวันที่ 11 กันยายน - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการ “ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง” เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรหรือทัวร์นาเมนท์ (TOUR NAMENT) แรกของสยาม พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ จึงเรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอล สำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง" ณ สนามฟุตบอลสโมสรเสือป่าหรือสนามม้าสวนดุสิต
4. ปีพ.ศ. 2499 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อ “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม” เป็น “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTIC THE KING) หรืออักษรย่อ F.A.T.
5. วันที่ 22 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ทีมชาติไทยได้สิทธิ์ผ่านลงเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย
6. วันที่ 12 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ทีมชาติไทยประสพความสำเร็จอีกครั้งในรอบ 12 ปี เมื่อสามารถผ่านรอบคัดเลือก ปรี-โอลิมปิก จัดที่กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ณ นครเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก
7. ปีพ.ศ. 2512 สมาคม ฟุตบอลแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันให้เป็นแบบดิวิชั่น (DIVISION) ของประเทศอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแบ่งระดับ มาตรฐานของทีมที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประจำปี ออกเป็น 4 ถ้วย คือ ถ้วย ก. ถ้วย ข. ถ้วย ค. และถ้วย ง.
8. ปีพ.ศ. 2549 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ กกท.(การกีฬาแห่งประเทศไทย ตัดสินใจยุบรวมสองลีกเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยรับเอา 2 สโมสรที่มีผลงานดีที่สุดจากโปรลีกเข้ามาร่วมทำการแข่งขันกับสโมสรชื่อดังในกทม. การรวมตัวครั้งนั้นทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยประกอบขี้นจากสโมสร องค์กร-หน่วยงาน และ สโมสรท้องถิ่น เป็นครั้งแรก
9. พ.ศ. 2550 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อการแข่งขัน เป็น “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก” โดยมีการยุบโปรวินเชียลลีก แล้วให้สโมสร 4 อันดับแรก เข้าแข่งขันในรายการนี้แทน รวมจำนวนสโมสรในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเป็น 16 ทีม พร้อมทั้งเพิ่มเงื่อนไขให้สโมสรซึ่งอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล ต้องตกชั้นไปสู่ไทยลีกดิวิชั่น 1 โดยมีทีมชนะเลิศ กับอันดับ 2 และ 3 ของไทยลีกดิวิชั่น 1 เลื่อนชั้นมาสู่ไทยพรีเมียร์ลีกเป็นการทดแทน และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2550 นั้นเอง ฉลามชล ชลบุรี FC ยอดทีม จากฝั่งตะวันออกที่มีฐานแฟนบอลของสโมสรรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น สามารถคว้า ตำแหน่งแชมป์ลีกไปครองชนิดเหนือความคาดหมาย จุดนี้เองทำให้กระแสคลั่งไคล้ฟุตบอลไทยลีกก่อตัวขึ้นช้าๆ แม้จะเริ่มมีกระแส ชลบุรีฟีเวอร์ เกิดขึ้น ก็ยังไม่อาจเรียกการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยว่าเป็นลีกอาชีพได้เต็มปากเต็มคำนักจนเมื่อ...
10. พ.ศ. 2551-2554 สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC ประกาศวิสัยทัศน์ “วิชั่นเอเชีย” ตั้งเป้าให้ สโมสรฟุตบอลเอเชียดำเนินกิจการอย่างมืออาชีพ และข้อบังคับของวิชันเอเชียก็มีนับ 10 ข้อ ที่สำคัญ เช่น ให้สโมสรฟุตบอลต้องจดทะเบียนนิติบุคคลแสวงหาผลกำไรและรายได้ในรูปบริษัท และธุรกิจอย่างเต็มตัว ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับเป็นประเทศชั้นสองของวงการลูกหนังเอเชีย นั่นคือ ถูกตัดสิทธิ์ส่งทีมลงเล่นในถ้วยสูงสุดของสโมสรเอเชีย คือ AFC Champions League ที่มีเงินรางวัลก้อนใหญ่เป็นรายได้ให้สโมสรอย่างมหาศาล จุดนี้เองเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงระบบฟุตบอลอาชีพของเมืองไทยขนานใหญ่ เป็นผลให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องดำเนินการจัดตั้ง “บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันลีกสูงสุดของประเทศ เหล่าบรรดาสโมสรสมาชิกต่างมีความตื่นตัวในมาตรฐาน โดนเฉพาะการให้ความสำคัญของ “Club Licensing” นำมาซึ่งการพัฒนาในทุกด้านจวบจนถึงทุกวันนี้
นับเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ฟุตบอลไทยได้ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน มีทั้งช่วงยุคทองและล้มลุกคลุกคลาน แต่ดูเหมือนว่านาทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังดำเนินไปตามวิถีทางที่ถูกต้องของฟุตบอลอาชีพ เป็นสถาบันที่สร้างความสุขให้กับผู้คนนับล้าน หากวันนี้คุณมีทีมที่คุณรักอยู่แล้วขอให้ช่วยกันสนับสนุน และช่วยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน “แพ้” หรือ “ชนะ” คือเกมกีฬา แต่การเข้าร่วมการแข่งขันอย่างมีสปิริตต่างหาก คือหัวใจของฟุตบอลอย่างแท้จริง ส่วนใครที่ยังไม่มีทีมที่ตามเชียร์ ลองมองหาซักทีมหนึ่งและเริ่มมีส่วนร่วมสนับสนุนทีมนั้นดู แค่ซื้อของที่ระลึกซักชิ้นแล้วบอกกับตัวเองว่า “ทีมนี้พี่รัก” ไม่ว่าทีมนั้นแพ้หรือชนะ รับรองว่ามันจะทำให้ชีวิตคุณมีสีสันขึ้นอีกเป็นทวีคูณครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น