วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2559

Crossing (Early Cross)







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (6.1)


Crossing (Early Cross)

พื้นที่ด้านข้างของสนามนั้นเราเรียกว่า “พื้นที่ของการโจมตี” การใช้วิธีโจมตีแบบนี้ต้องอาศัยความแม่นยำของผู้เล่นคนที่ผ่านบอล และทักษะของคนรับบอลก็สำคัญไม่แพ้กัน Early Cross นั้นจะเป็นการผ่านบอลจากระยะที่ค่อนข้างไกล และเป้าหมายอยู่ที่พื้นที่หลังแนวรับของคู่ต่อสู้ ในสถานการณ์แบบนี้ กองหน้าต้องพยายามเอาชนะกองหลังให้ได้ และ Position ก็ยังเป็นสิ่งที่อยู่ในจังหวะที่เหมาะสม หลายครั้งที่เราเห็นการทำประตูในลักษณะนี้ แล้วเราก็มักจะชื่นชมว่าเป็น “สัญชาตญาณ” ซึ่งกองหน้าจะต้อง “เสี่ยง” อย่างเดียวเท่านั้นที่จะทำประตู แต่ด้วยความเป็นจริง สัญชาตญาณที่ว่านั้นเกิดจากการ “ฝึกซ้อม” ต่างหากล่ะ

ฟุตบอลคือการนัดแนะ ไม่มีคำว่าบังเอิญครับ


วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2559

นัดนี้ชี้ชะตา







นัดนี้ชี้ชะตา


จิ้งจอกสยาม “เลสเตอร์ ซิตี้” ขยับใกล้กับการสร้างประวัติศาสตร์เป็นแชมป์ลีกสูงสุด ได้เป็นครั้งแรกของสโมสรเข้าไปทุกที ขณะที่เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น การขาดหายไปของ เจมี่ วาดี้ ดาวยิงตัวเก่งของทีม ที่ติดโทษแบนใบแดงมาจากนัดก่อนหน้านี้ คาดว่าน่าจะส่งผลต่อผลต่อรูปเกมได้พอสมควร แต่ลูกทีมของ รานิเอรี่ ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า “ทีมเวิร์ค” นั้นสำคัญกว่าตัวผู้เล่นครับ

การลงเล่นก่อนทีมอันดับสองอย่าง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ นั้นก็เหมือนกับดาบสองคมครับ นัยหนึ่งหากเก็บชัยชนะได้ก็จะสามารถโยนแรงกดดันให้กับ สเปอร์ ได้ทันที แต่หากทำได้แย่กว่านั้นโมเมนตั้มจะกลับไปหาทีมคู่แข่งเช่นเดียวกัน แต่เลสเตอร์ก็ทำได้ดีสมกับว่าที่แชมป์ด้วยการไล่ถล่มสวอนซีถึง 4-0 ที่สุดเป็นสเปอร์ที่ไม่สามารถแบกรับแรงกดดันเอาไว้ได้ เมื่อทำได้แค่เสมอ เวสบรอมวิช อัลเบี้ยน 1-1 ทั้งๆที่เล่นต่อหน้าแฟนบอลตัวเองที่ถิ่น ไวท์ฮาร์ทเลน จนช่องว่าของคะแนนขยับไปเป็น 7 คะแนนทันที

แต่เกมชี้ชะตาของเลสเตอร์อยู่ที่นัดที่จะถึงนี้แหละครับ ด้วยเกมที่ต้องออกไปเยือนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ลูกทีมของ หลุย ฟานกัล นั้นเพิ่งจะโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมทะลุเข้าชิงถ้วย FA Cup มาเมื่อสุดสัปดาห์เช่นกัน และยังมีลุ้นโควต้า ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก หากสามารถจบด้วยอันดับท้อปโฟร์ ในตารางพรีเมียร์ ลีก

เพราะฉะนั้นเชื่อว่าเกมนี้ปีศาจแดงจะเดินเครื่องเต็มที่อย่างแน่นอน เพราะเป้าหมายบอลถ้วยนั้นลุล่วงไปแล้ว ที่เหลือก็มุ่งมั่นกับการทำอันดับให้ดีที่สุด คาดว่าเราคงได้เห็นเกมที่สู้กันอย่างสนุก ทีมหนึ่งเป้าหมายคือ แชมป์ อีกทีมเป้าหมายคือพื้นที่บอลยุโรป หากพลาดไปนั่นหมายถึงผลประโยชน์มหาศาลที่เสียไปด้วย รับรองว่าใส่กันไม่ยั้งแน่ครับ

แต่หากเลสเตอร์เกิดพลาดท่าขึ้นมา ก็ต้องลุ้นให้สเปอร์ที่เจอกับคู่แข่งกระดูกชิ้นโตอย่างเซลซีนั้นต้องไม่ชนะด้วย และโปรแกรมที่เหลืออีกสองนัดของเลสเตอร์นั้นก็หนักใช่ย่อยเหมือนกัน เมื่อต้องรับกับเอฟเวอตันในบ้านและนัดสุดท้ายต้องออกไปเยือนเชลซี แต่หากผ่านแมนยูไปได้เลสเตอร์ก็จะเป็นแชมป์ทันที!!

ส่วนสเปอร์เองหากผลในนัดนี้เข้าทางหมดทุกอย่าง โปรแกรมนัดอีกสองนัดที่เหลือนั้นเบากว่า และคงได้ลุ้นกันจนถึงนัดสุดท้ายเหมือนกัน

คงต้องดูกันครับว่าทีมสปิริตของเลสเตอร์ ความมุ่งมั่น และฟอร์มการเล่นที่สม่ำเสนอต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น จะสามารถพาทีมไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่เพราะทุกอย่างเหลือแค่เอื้อมเท่านั้น หากทำได้ก็จะเปลี่ยนโฉมวงการฟุตบอลกันขนาดใหญ่ ทีมเล็กๆ ทุนไม่หนา แต่ใช้วิธีการของฟุตบอลด้วยกลยุทธ ยุทธวิธีต่างๆ ก็สามารถทำให้ทีมประสบความสำเร็จอยู่บนหัวตารางได้ ที่สำคัญจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมอื่นๆหันกลับมามองหาวิธีการที่จะประสบความสำเร็จบนข้อจำกัดที่มีอยู่ให้ได้เหมือนที่เลสเตอร์ทำไว้เป็นแบบอย่าง โดยส่วนตัวผมอยากเห็นภาพนั้นเกิดขึ้นจริงๆเลยครับ



อาถรรพ์มีไว้ทำลาย








อาถรรพ์มีไว้ “ทำลาย”


สมกับเป็น Super Big Match ประจำศึก TOYOTA Thaileague ประจำสัปดาห์นี้จริงๆครับ

เริ่มตั้งแต่บรรยากาศภายในสนาม ธันเดอร์คาสเซิล สเตเดียม ที่แฟนบอลเข้าไปเต็มความจุ24,000 ที่นั่ง ชนิดต้องขึ้นป้าย Sold Out หน้าสนาม ถือเป็นบรรยากาศของฟุตบอลอาชีพอย่างแท้จริง และบุรีรัมย์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าผู้เล่นคนที่ 12 ของทีมนั้นยิ่งใหญ่มากเพียงใด

เจ้าบ้านบุรีรัมย์นั้นพกเอาสถิติ 44 นัดไร้พ่ายในเกมลีก แถมมีสถิติข่มผู้มาเยือนมิดจาก 20 นัดที่เจอกันบุรีรัมย์ไม่เคยแพ้เมืองทอง ยูไนเต็ด จนเป็นที่มาของวลี “งูเหลือมกับเชือกกล้วย” 

แต่หลังจากทีมเซาะกราวต้องเสียดาวซัลโวตัวเก่งอย่าง Diogo ไปในเกม ACL จากเป็นต้นมา ก็ส่งผลให้ความน่ากลัวในแนวรุกลดฮวบลงไปอย่างน่าใจหาย ดูเหมือน KIAO และ คิม ซุนยอง นั้นความสามารถยังห่างไกลกับมาตรฐานของทีมปราสาทสายฟ้าอยู่อีกหลายช่วงตัว

ขณะที่ทัพกิเลนผยองนั้น มาด้วยความมั่นใจหลังจากนัดล่าสุดโชว์ฟอร์มเหนือชั้นชนะศรีษะเกตุมาด้วยสกอร์ 4-0 และนัดนี้โค้ช “แบน” ก็ใช้ผู้เล่นชุดเดิมในการลงสนามซึ่งดูเหมือนจะเป็นชุดที่ลงตัวที่สุดในขณะนี้

ช่วงต้นเกมนั้นเหมือนเจ้าบ้านจะดูดีกว่าเล็กน้อย โดยเฉพาะการขึ้นเกมทางด้านข้างที่มีโอกาสผ่านบอลเข้าไปแต่จังหวะการจบสกอร์ยังไม่ดี การที่แบ็คทั้งสองข้างของเมืองทองหุบเข้าไปรักษาพื้นที่ด้านในแบบนี้ น่าจะเป็นโอกาสให้บุรีรัมย์ใช้ประโยชน์ให้มากกว่านี้นะครับ แต่พอโดนลูกสวนกลับและเสียถึง 2 ประตูในช่วง 15 นาทีแรกนั้นทำให้เส้นทางในการออกบอลและเส้นทางในการวิ่งนั้นดูสะเปะสะปะไป

การเปลี่ยนระบบ จาก 4-4-2 เป็น 3-5-2 กลับไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังมาเสียลูกที่ 3 จากจังหวะที่ ธีราธร เติมเกมบุกขึ้นไปแล้วลงไปทัน จน ธีรศิลป์ มีจังหวะหลุดเดี่ยวแม้จังหวะนั้นจะไม่เป็นประตู ซึ่งก็เป็นอาถรรพ์ของเจ้าตัวต่อไป แต่ก็เป็นจังหวะต่อเนื่องให้ทีมได้ประตู และเกมนี้ก็ตัดสินแค่ 45 นาทีแรกเท่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปในเกมนี้คือ ความดุดันในการเพรสซิ่งของบุรีรัมย์ ที่เคยทำได้ดีในหลายเกมที่ผ่านมาเกมนี้กลับไม่เห็นเท่าที่ควร แต่ปัญหาที่แท้จริง คือ บุรีรัมย์ยังเป็นทีมที่พึ่งพาความสามารถของผู้เล่นมากกว่า ทีมเวิร์ค หากยามนี้ยังมี Diogo ภาพที่เห็นกันชินตาก็คือ ทิ้งบอลไปให้แล้วที่เหลือศูนย์หน้าบราซิลก็ทำการปิดจ๊อบเอง การที่ทีมต้องอาศัยความสามารถของผู้เล่นคนใดคนหนึ่งในการแบกทีม ผลที่ตามมาก็เป็นอย่างนี้ล่ะครับ จริงๆสัญญาณมันก็ส่อเค้ามาหลายเกมแล้วโดยเฉพาะในระดับ ACL 

ดังนั้นการแก้ปัญหาของบุรีรัมย์จึงมีอยู่ 2 ทางคือ 1. หาผู้เล่นระดับนี้มาแทน หรือ 2. ปรับปรุงวิธีการเรื่องระบบและ “แทคติค” ซึ่งจริงๆก็ยังเป็นจุดอ่อนเหมือนกับหลายๆทีม ไม่เว้นแม้กระทั่งคู่แข่งในเกมนี้อย่างเมืองทองฯ เพียงแต่วันนี้มีความลงตัวมากกว่าเท่านั้น

แม้วันนี้สถิติต่างๆของบุรีรัมย์จะถูกหยุดไว้เพียงเท่านี้ แต่ด้วยวิถีของฟุตบอลลีกก็เป็นเพียงความพ่ายแพ้นัดหนึ่งเท่า ซึ่งเป็นสิ่งธรรมดาที่ทุกทีมจะต้องเจอ มองในมุมดีทีมจะได้ลดความกดดันจากสถิติที่สร้างมา กลับไปยังจุดเริ่มต้นใหม่ตั้งใจกันนัดต่อนัด เชื่อว่าคงจะกลับมาได้อย่างแน่นอน ขณะที่เมืองทองที่เป็นลูกไล่มาก่อน วันนี้ก็เป็นทีมที่ลุ้นแชมป์เต็มตัวและเชื่อว่าน่าจะได้ลุ้นไปจนจบฤดูกาล ส่วนแฟนบอลอย่างพวกเราก็จะได้ดูการเบียดแย่งแชมป์กันยาวๆ รอให้เกิดสถิติใหม่ว่าจะมีทีมไหนอีกบ้างหรือเปล่าที่จะเทียบสถิติของบุรีรัมย์ เพราะการทำลายสถิติหมายถึงการพัฒนาครับ



Blind Side Run







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (5)


Blind Side Run

Blind ซึ่งแปลว่า “ตาบอด” การใช้ยุทธวิธีนี้คือจ่ายบอลไปยังพื้นที่ด้านหลังของกองหลัง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แทงช่อง” นั่นเอง การเลือกใช้วิธีการเข้าทำแบบนี้ ผู้เล่นจะต้องมีความเข้าใจค่อนข้างสูง การให้สัญญาณกันระหว่างคนจ่ายบอลกับคนรับบอลเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะคนจะจ่ายต้องคำนวณระยะทางและความเร็วของเพื่อนที่จะไปรับบอล รวมถึงตำแหน่งของคู่ต่อสู้

Blind Side Run จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อ กองหลังฝ่ายตรงข้ามเปิดพื้นพื้นที่ด้านหลังไว้ค่อนข้างเยอะ ที่สำคัญการยืนในตำแหน่งที่ได้เปรียบของผู้เล่นจะทำให้เกิดความเหมาะสมในการเล่นด้วยวิธีนี้ครับ

ซ้อมมาก ฝึกมาก เข้าใจกัน

วันจันทร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2559

เยาวชน เริ่มต้นให้ถูกทาง







เยาวชน เริ่มต้นให้ถูกทาง


ทุกคนย่อมมี “ความฝัน” แต่จะมีใครซักกี่คนที่สามารถรักษาความฝันของตัวเองไว้ได้จนกระทั่งมันกลายเป็นความจริง

วันนี้มีนักเตะคนที่กำลังเริ่มจะทำตามความฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเตะเยาวชน ที่มี ลีโอเนล เมสซี่, คริสเตียโน่ โรนัลโด้, ไล่เรียงไปจนถึง เมสซี่ เจ เป็นไอดอลให้กับตัวเองไว้เป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งนับเป็นสิ่งที่ถูกต้องของการเริ่มต้น เพราะมันคือภาพของความสำเร็จและ “แรงบันดาลใจ”

แต่สำหรับผู้ปกครองทั้งหลายถ้าอยากเห็นลูกหลานของท่าน เดินบนถนนสายนี้อย่างมีคุณภาพแล้วล่ะก็ คงไม่ใช่แค่การซื้อรองเท้าดีๆ หรือชุดเท่ๆให้ใส่แต่เพียงเท่านั้น การให้กำลังใจเมื่อกับบุตรหลานของท่านยามเมื่อเจอกับความเป็นจริงของฟุตบอลต่างหากเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่งกว่า เพราะฟุตบอลเป็นกีฬาที่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน ที่สำคัญในการก้าวข้ามขีดความสามารถของผู้เล่นเยาวชนนั้น มักต้องมาพร้อมกับกำลังใจที่ดีเสมอ

กระนั้นก็ตามฟุตบอลในระดับเยาวชนนั้น ยังไม่ควรเน้นเรื่องการแข่งขันก่อนนะครับ อย่าเพิ่งหวงผลแพ้ชนะ เด็กๆควรได้รับการเรียนรู้เรื่องเทคนิคของฟุตบอลให้มากที่สุด การฝึกซ้อมต้องมีความสนุกสนานและเหมาะสมกับวัย แบบฝึกไม่ยากจนเกินไป ที่สำคัญห้ามไม่ให้พัฒนาทางด้านความฟิตอย่างหนักโดยเด็ดขาด ทำได้เพียงการพัฒนากล้ามเนื้อตามธรรมชาติฟุตบอลเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี

เนื่องจากเด็กๆในวัยนี้กำลังอยู่ในช่วงของการเจริญเติบโต อาหารที่เค้ารับประทานเข้าไปซึ่งควรจะเน้น เนื้อ นม ไข และผักผลไม้ นั้นควรจะนำไปใช้เพื่อการเจริญเติบโต ไม่ใช่นำไปสร้างกล้ามเนื้อเพื่อความแข็งแรง ทนทาน ที่สำคัญผมเคยเห็นการปลุกให้เด็กๆลุกขึ้นมาวิ่งตั้งแต่ตอนเช้ามืด เพื่อต้องการความฟิต ทั้งๆที่เวลานั้นคือเวลาพักผ่อนของเค้า Growth Hormone กำลังทำงาน แต่กลับต้องมาตื่นเพื่อฝึกซ้อมด้านพละกำลัง ถึงแม้เราจะได้นักฟุตบอลเด็กที่ฟิต แต่ผลสุดท้ายก็เหมือนอย่างที่หลายคนสงสัยว่าทำไมเด็กไทยมักจะเก่งกว่าเด็กฝรั่ง ก็เพราะเราแข็งแรงกว่านั่นเอง แต่พอโตขึ้นเรากลับไม่เคยเอาชนะเค้าได้เลย และนี่คือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของการพัฒนาที่ผ่านมาครับ

เพราะฉะนั้นวันนี้คุณๆในฐานะผู้ปกครอง ควรหันมามุ่งเน้นปลูกฝังเรื่องทัศนคติที่ถูกต้องของการมีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ ความร่วมไม้ร่วมมือ ทำงานเป็นทีม จะดีกว่า และขอย้ำว่าควรให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านทักษะฟุตบอล เลี้ยง ส่ง โหม่ง ยิง ให้ถูกต้อง เชื่อว่าไม่นานเราจะได้ผู้เล่นที่มีคุณภาพทั้งทางด้านเทคนิคและสรีระ พร้อมก้าวขึ้นสู่ระดับอาชีพอย่างมีคุณภาพได้เป็นอย่างดี
ขอฝากไว้ด้วยนะครับ




วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2559

Over Lap







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (4)      


Over Lap

หรือการ “วิ่งอ้อมหลัง” นั้นเป็นยุทธวิธีที่ใช้เมื่อผู้เล่นที่ครอบครองบอลสามารถดึงคู่ต่อสู้มาเล่นกับตนเอง แล้วเปิดพื้นที่ด้านหลังเอาไว้ ผู้เล่นสามารถใช้วิธีการวิ่งอ้อมหลังคนที่มีบอลไปรับบอลยังพื้นที่ที่เปิดอยู่ เรามักเห็นวิธีการเล่นแบบนี้ทางด้านริมเส้นเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เหมาะสม และตำแหน่งที่มักจะ Over Lap ขึ้นไปก็คือ Full Back ทั้งสองข้าง

กระนั้นการเติมเกมขึ้นไปของ Back จะต้องพิจารณา 3 อย่างด้วยกันคือ
1. ในขณะที่กำลังจะเติมเกมมีคู่ต่อสู้ที่ต้องรับผิดชอบมาร์คอยู่หรือไม่ เพราะการเติมเกมขึ้นไปนั่นหมายถึงการทิ้งหน้าที่ในเกมรับ
2. หากจำเป็นต้องทิ้งคู่นั่นหมายถึงขึ้นไปแล้วต้องได้บอล 100%
3. เมื่อได้บอลแล้วห้ามเสียการครอบครองบอลโดยเด็ดขาด ต้องผ่านบอลหรือต้องยิงประตูเท่านั้น เพราะหากเสียการครอบครองคู่ต่อสู้ที่ Back ทิ้งไปเอาบอลนั้นจะว่าง และเป็นโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามสวนกลับในตำแหน่งนั้นทันที

การเล่นด้วยวิธีการนี้ “จังหวะ” เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์ อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญต้องคำนึงถึงสิ่งที่เกิดตามมาหากตัดสินใจผิดพลาด ควรฝึกให้เกิดความชำนาญเพื่อในสถานการณ์จริงจะสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมนะครับ

ซ้อมกันมาก ก็ เข้าใจกันมาก




วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2559

เลือกได้ไม่ขอ "เจ็บ"







เลือกได้ไม่ขอ “เจ็บ”


ฟุตบอลเป็นกีฬาที่มีการ “ปะทะ” ดังนั้นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ก็คือปัญหาการบาดเจ็บ ทั้งที่เกิดจากการแข่งขันและขณะฝึกซ้อม

แต่การบาดเจ็บในนักกีฬาฟุตบอลนั้นนอกเหนือจากการกระทบกระทั่งกันในสนามซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ยังมีปัญหาที่เกิดจากปัจจัยอื่นๆอีก โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นเอง เช่น กล้ามเนื้อฉีก กล้ามเนื้อกระตุก เป็นต้น ซึ่งมักจะต้องใช้เวลาในการรักษามากกว่าปกติ ซึ่งสาเหตุของการบาดเจ็บลักษณะนี้มักเกิดจาก

1. ความฟิตไม่ถึง นักกีฬาที่เรื้อการลงสนามไปนาน หรือฝึกซ้อมไม่เพียงพอ ส่งผลให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะลงไปเจอเกมหนักๆ รวมไปถึงความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ เอ็นข้อต่อต่างๆก็มีไม่เพียงพอเช่นกัน ที่สำคัญคือขาดการทดสอบและเก็บข้อมูลทางด้านความฟิตของนักกีฬาซึ่งหลายๆทีมมองข้ามจุดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

2. ขาดการเตรียมพร้อมก่อนลงสนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอบอุ่นร่างกายก่อนลงสนาม การยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่ถูกต้องละใช้เวลาอย่างเหมาะสม นักกีฬาหลายคนมองข้ามจุดนี้ไปและเป็นสิ่งที่นักกีฬาต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง ซึ่งบางครั้งการอบอุ่นร่างกายจากโค้ชฟิตเนสอาจไม่เพียงพอ นักกีฬาต้องรู้ตัวเองว่าควรจะเพิ่มเติมตรงไหน

3. การพักผ่อนไม่เพียงพอ เช่นนอนดึก นอนไม่หลับ จะส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจนั้นเปลี่ยนไป ส่งผลต่อการไหลเวียนของโลหิตและกล้ามเนื้อ

4. ดื่มน้ำน้อยเกินไป ทั้งในระหว่างการก่อนการลงสนาม ระหว่างลงสนาม และหลังจากลงสนาม รวมไปถึงในการใช้ชีวิตประจำวัน นักกีฬาต้องได้รับน้ำอย่างน้อย 3 ถึง 4 ลิตร ต่อวัน เพราะน้ำจะส่งผลต่อประสิทธิภาพโดยรวมของการใช้กล้ามที่ต้องใช้น้ำเป็นตัวพาเอาเกลือแร่และสารอาหารไปให้ร่างกายใช้

5. โภชนาการไม่สมบูรณ์ นักกีฬาฟุตบอลนั้นต้องใช้พลังงานอยู่ที่ประมาณ 3500 KCal ต่อวัน นอกเหนือจากอาหารที่ให้พลังงานสูงอย่างคาร์โบไฮเดรตแล้ว อาหารประเภทโปรตีนก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะกล้ามเนื้อของนักกีฬามีความสึกหรอค่อนข้างสูง หากขาดวัตถุดิบในการซ่อมแซมก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อขาดความแข็งแรงบาดเจ็บได้ง่าย

6. การเคลื่อนไหวผิดจังหวะ หรือเคลื่อนไหวผิดท่า ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยที่อาจเกิดขึ้นได้กับนักกีฬา อย่างไรก็ตามหากนักกีฬามีความฟิตที่เหมาะสม แม้เกิดอาการบาดเจ็บก็จะใช้ระยะเวลาในการรักษาน้อยลง

ไม่มีนักกีฬาคนไหนต้องการบาดเจ็บหรอกนะครับ หากแต่เรามีโอกาสที่จะป้องกันให้เกิดน้อยที่สุด ดังนั้นจงอย่ามองข้ามปัจจัยเล็กๆน้อยๆที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ เพราะเมื่อไรที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะกับนักกีฬาคนใดก็ตาม นั่นหมายถึงทีมต้องเสียโอกาสในการใช้งานและโค้ชก็ต้องสูญเสียตัวเลือก นักกีฬาเองก็เสียเวลาในการรักษาสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบกับทีม เพราะทุกคนในทีมนั้นย่อมมีความสำคัญ ฝากถึงนักกีฬาทุกท่านนะครับเตรียมตัวเองให้พร้อมป้องกันให้ดีที่สุดลดปัจจัยเสี่ยงให้มากที่สุด แล้วคุณจะได้ชื่อว่า “มืออาชีพ” ครับ



วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

Double Pass







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (3)      


Double Pass

ยุทธวิธีการเข้าทำด้วย Double Pass นั้น เป็นการวิธีการเล่นที่ต้องใช้ทักษะและความเข้าใจที่ค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการเปลี่ยนพื้นที่ในการเล่น และหากคู่ต่อสู้ไม่พร้อมก็จะทำให้ยากแก่การป้องกัน การเล่นด้วยวิธีนี้จะมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้อง 3 คน ความสำคัญจะอยู่ที่ผู้เล่นตัวที่ 3 จะต้องอ่านเกมอยู่และเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา รวมถึงต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมด้วย

ดังนั้นหากทีมต้องการใช้วิธีการนี้ จำเป็นต้องฝึกซ้อมจนเกิดทักษะและความชำนาญ จึงจะสามารถเล่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซ้อมให้เยอะฝึกให้หนักประสิทธิภาพมันคุ้มค่าเหลือเกินครับ








วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2559

สำรอง ก็ สำคัญ








สำรอง ก็ สำคัญ


การแข่งขันฟุตบอลแต่ละนัดนั้นจะมีผู้เล่นลงสนามได้เพียงแค่ 11 คนเท่านั้น ขณะที่ในทีมฟุตบอลทีมหนึ่งๆนั้นจะมีผู้เล่นอยู่ราว 25-30 คน ยิ่งเป็นทีมสโมสรที่ใหญ่ขึ้นไปแล้วล่ะก็ อาจมีถึง 40-50 คนเลยทีเดียว

นั่นหมายถึงผู้เล่นส่วนใหญ่ในทีมจะไม่ได้ลงสนาม คนที่ไม่ได้ลงสนามก็คือผู้เล่น “สำรอง” หากแต่ผู้เล่นสำรองนั้นมีความสำคัญไม่แพ้ผู้เล่นตัวจริง ยิ่งในยุคปัจจุบันที่รายการแข่งขันฟุตบอลมีชุกมากการ Rotation จึงมีความสำคัญต่อทีมไม่น้อย กระนั้นก็ตามก็ไม่มีนักฟุตบอลคนไหนอยากเป็นตัวสำรองอยู่ดี

ประเด็นจึงอยู่ที่ผู้เล่นสำรองนั้นจะสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งตัวจริงได้อย่างไรนั้นมีปัจจัยอะไรบ้างต่างหาก

สิ่งแรกเลยที่ต้องมีก็คือ “เป้าหมาย” ที่จะต้องก้าวขึ้นเป็น 11 ตัวจริงให้ได้ จริงอยู่ที่ในการฝึกซ้อมแต่ละวันนั้นไม่ว่าผู้เล่นสำรองหรือตัวจริงก็จะทำการซ้อมเหมือนๆกัน หากแต่ผู้เล่นที่มีเป้าหมายในการเล่นนั้นจะมีความตั้งใจฝึกซ้อมและมักจะมีการซ้อมเพิ่มเติมและหนักกว่าคนอื่น และมักจะพัฒนาแก้ไขจุดบกพร่องที่ตัวเองมีอยู่ให้ไม่มีอยู่หรือให้มีอยู่น้อยที่สุด

“ทัศนคติ” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นที่คิดจะก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นตัวหลักของทีมต้องมีอย่างถูกต้อง การไม่ได้รับโอกาสจากโค้ชให้ลงสนามนั้นย่อมแสดงให้เห็นว่า ยังมีผู้เล่นคนอื่นที่ดีกว่าตนเองในตำแหน่งเดียวกัน ต้องพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อให้เป็นตัวเลือกของโค้ชให้ได้ อีกอย่างก็คือให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อตนเองและ “ทีม” ชนะด้วยกัน แพ้ด้วยกัน ตัวสำรองก็คือส่วนหนึ่งของทีมนะครับ

“ความเข้าใจ” ผู้เล่นที่ดีจะต้องมีความเข้าใจถึง คาแรกเตอร์และวิธีการเล่นของทีม แม้จะเป็นผู้เล่นสำรองเองก็ตาม เพราะฉะนั้นในขณะที่ผู้เล่นสำรองนั่งอยู่ข้างสนามผู้เล่นเหล่านั้นจะพยายามอ่านเกม คิด และจินตนาการตามว่าหากเป็นตนเองที่ได้รับโอกาสจะทำอย่างไร

“มีความพร้อมอยู่เสมอ” ไม่มีใครรู้ว่าตนเองจะได้รับโอกาสในการลงสนามเมื่อไร ที่สำคัญคือ เมื่อได้รับโอกาสแล้วต้องทำสิ่งนั้นให้ได้ เพราะบางครั้งเวลาที่ได้ก็น้อยตามลงไปด้วย หากสามารถลงไปเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ได้ โอกาสสำหรับการได้เป็นตัวหลักก็ย่อมเปิดกว้างมากขึ้น สังเกตง่ายๆครับทีมในระดับอาชีพ ในขณะที่ทุกสายตาในสนามจับจ้องอยู่กับเกมการแข่งขัน จะมีผู้เล่นอยู่กลุ่มหนึ่งที่กำลังทำหน้าที่ของตัวเองออกไปวอร์มอัพเตรียมตัวสำหรับได้รับโอกาสอยู่เสมอ

“เราไม่อาจล่วงรู้อนาคตได้ แต่เราเตรียมพร้อมสำหรับมันได้” ฝากถึงใครก็ตามครับที่ยังไม่สามารถสอดแทรกขึ้นเป็นตัวหลักของทีมได้ ก็อย่าเพิ่งท้อถอย เตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุด แก้ไขจุดบกพร่องของตัวเอง ทำให้โค้ชเห็นให้ได้ เชื่อว่าหากคุณยืนหยัดทำทุกสิ่งทุกอย่างอย่างต่อเนื่องและเต็มที่ที่สุด ซักวันโอกาสจะมาถึงคุณแน่นอน





Wall Pass







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (2)


Wall Pass

หรือที่เรียกว่า “ลูกชิ่ง” เป็นการเข้าทำที่ผู้เล่นมักใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการหนีการมาร์คจากคู่ต่อสู้ ต้องทำด้วยความรวดเร็วและเข้าใจกัน อย่างไรก็ตามคนที่สำคัญก็คือ ผู้เล่นที่เป็น “ตัวชิ่ง” นั้นจะต้องคาดการณ์อยู่เสมอว่าในขณะที่เพื่อนได้บอล ตัวเองนั้นจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เช่นกรณีของการอยู่ใน Position ของการทำชิ่งได้ เป็นต้น

ดังนั้น คนมีบอลนั้นสำคัญด้วยตัวเองแต่คนไม่มีบอลนั้นสำคัญกว่า ทุกสถานการณ์ผู้เล่นต้องอ่านเกมอยู่เสมอและต้องทำตัวเองให้อยู่ในเกมตลอดเวลานะครับ


SOLO







6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู


ในการสร้างเกมรุกนั้นเป้าหมายก็คือการทำประตู ซึ่งในศาสตร์ของฟุตบอลสมัยใหม่นั้นแบ่งวิธีการเข้าทำออกเป็น 6 อย่างดังนี้

1 Solo (เลี้ยงเดี่ยว)

2 Wall Pass (ทำชิ่ง)

3 Over Lap (วิ่งอ้อมหลัง)

4 Blind Side Run (จ่ายตัดหลัง)

5 Double Pass

6 Crossing (โจมตีจากด้านข้าง)

วันนี้เรามาเริ่มกันที่ Solo กันก่อนนะครับ

การ Solo หรือการเลี้ยงเดี่ยวนั้น ไม่ใช่อยู่ดีๆจะตะพึดตะพือเลี้ยงเข้าไปทำประตูเพียงอย่างเดียวเลยนะครับ ก่อนที่ผู้เล่นจะทำการตัดสินใจทำการ Solo นั้น ต้องพิจารณาเห็นแล้วว่าผู้เล่นในทีมเดียวกันถูกมาร์คอยู่ไม่สามารถเล่นบอลได้ หรือคำนวณแล้วว่าหากจ่ายบอลไปให้ก็อาจมีโอกาสที่จะถูกตัดบอล ผู้เล่นที่ครอบครองบอลขณะนั้นจึงจะสามารถทำการ Solo เข้าไปเพื่อทำประตูได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการทำเกมรุกนั่นคือการ “ทำประตู”

อย่างไรก็ตามผู้เล่นจะต้องได้รับการเรียนรู้พื้นฐานมาก่อนว่า การเลี้ยงนั้นเลี้ยงเพื่ออะไร นั่นคือเลี้ยงเพื่อการครอบครองบอลหรือเลี้ยงเพื่อแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า การเลี้ยงที่ดีต้องเลี้ยงในแนวทะลุทะลวง ไม่ใช่เลี้ยงขวางสนาม เป็นต้น เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้เล่นต้องได้รับการเรียนรู้มาก่อนทั้งสิ้น

ฟุตบอลสมัยใหม่ ต้องเล่นไปคิดไปนะครับ

วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2559

โค้ชนั้น สำคัญไฉน







ปราชญ์ลูกหนังท่านหนึ่งได้เคยกล่าวเอาไว้ว่า “โค้ชที่ดี ย่อมต้องทำให้ผู้เล่นติดทีมชาติได้” 


หากเราเปรียบการสร้างทีมฟุตบอลเหมือนกับการปรุงอาหาร “โค้ช” หรือผู้ฝึกสอนก็เปรียบได้เสมือนกับ “เชฟ” ผู้รังสรรค์อาหารหลากรสชาติให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ จะต้องมีความพิถีพิถันในทุกๆด้าน ทั้งการคัดเลือกวัตถุดิบให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด หากมีวัตถุดิบที่ดีบางครั้งแทบไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากก็ได้อาหารจานเด็ดแล้ว 

ขณะเดียวกันขั้นตอนในการปรุงนั้นก็มีความสำคัญไม่น้อย หากเชฟไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอแม้จะมีวัตถุดิบที่ดีซักเพียงใดก็ตาม อาหารจานนั้นก็อาจจะกลายเป็นเพียงอาหารธรรมดาจานหนึ่งก็เป็นได้ ในทางตรงข้ามแม้บางครั้งวัตถุดิบที่ได้มาอาจเป็นวัตถุดิบที่แสนจะธรรมดา แต่ด้วยความสามารถของเชฟที่สามารถดึงเอารสชาติที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความธรรมดาของวัตถุดิบอันนั้น นำมาผ่านกระบวนการปรุงอย่างดี จนกลายเป็นอาหารรสเลิศก็มีอยู่ให้เห็นกันอย่างมากมายฉันใด

“โค้ช” ก็เช่นเดียวกันครับ เขาคือปัจจัยที่สำคัญอย่างมากที่จะตัดสินอนาคตและความสำเร็จของทีม เพราะถึงแม้ฟุตบอลนั้นจะวัดผลแพ้ชนะกันในสนาม แต่ทุกอย่างล้วนเป็นผลมาจากการทำงานภายนอกสนามมาก่อนทั้งสิ้น

กระนั้นก็ตามคุณๆเคยสงสัยหรือไม่ครับว่า ทีมบางทีมทั้งๆที่ผู้เล่นเหมือนเดิมแต่เปลี่ยนแค่โค้ชหรือผู้จัดการทีมก็ทำให้ทีมนั้นดีขึ้นผิดหูผิดตา หรือบางทีมที่มีผู้เล่นเก่งๆเดินชนกันเต็มไปหมดแต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขัน มันก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการปรุงของโค้ชนั่นแหละครับ เมื่อตั้งระบบการเล่นขึ้นมาแล้ว โค้ช จะนำเอาผู้เล่นมาวางให้เข้ากับระบบนั้นได้อย่างไร ใครเคลื่อนที่ไปทางไหน รุกทำอะไร รับทำอะไร แทคติคต่างๆจะใช้ตอนไหน ทำไมต้องทำอย่างนั้น รายระเอียดต่างๆเหล่านี้ เป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องนำออกมาเป็นรูปธรรมและใช้ได้จริง

ผมชอบคำสัมภาษณ์ที่ Xavi Hernandez ได้พูดถึง Pep Guardiola ว่า “Pep เป็นโค้ชคนแรกที่ไม่ใช่แค่บอกว่าให้ทำอะไร แต่กลับอธิบายด้วยว่า ทำไมต้องทำสิ่งนั้น” นั่นแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในเรื่องของฟุตบอลที่โค้ชได้ส่งต่อให้กับผู้เล่นของเขา เพราะโค้ชจะต้องพยายามนำเอาภาพที่อยู่ในสมองออกมาให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะผู้เล่นนั้นพร้อมที่จะทำตามอย่างที่โค้ชสั่งอยู่แล้ว ที่สำคัญผลงานในสนามที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะยังไง “โค้ช” จะต้องเป็นคนที่รับผิดชอบทั้งหมดครับ


ในขณะรุก ทุกตำแหน่งต้องมีส่วนร่วมกับเกม








ในเกมฟุตบอลเรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆว่า ในขณะที่ทีมกำลังทำเกมรุกอยู่นั้น เมื่อเสียการครอบครองบอลในแนวรุก โดยฝ่ายตรงข้ามสามารถตัดบอลได้แล้วนำไปสู่การเสียประตู
ส่วนมากแล้วสาเหตุมักมาจากการที่ผู้เล่นที่ไม่มีส่วนร่วมในเกมรุก โดยเฉพาะผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังไม่ได้เตรียมพร้อมหรือทำหน้าที่ของตนเอง

จากคลิปที่ยกตัวอย่าง คุณๆจะเห็นได้ว่าในขณะที่บอลอยู่ในแดนหน้านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังจะไปมีส่วนร่วมในเกมรุกขณะนั้น สิ่งที่กองหลังจะต้องทำคือต้องยังคงให้ตัวเองมีส่วนร่วมกับเกม นั่นก็คือต้องมาร์คผู้เล่นที่อยู่ในตำแหน่งที่อันตรายที่สุดของฝ่ายตรงข้ามไว้ก่อนนั่นเอง

ลองคิดดูนะครับว่าตลอดทั้ง 90 นาที หากผู้เล่นกองหลังยืนในตำแหน่งผิดพลาด 10 นาที นั่นหมายถึงการถูก “ตัดออกจากเกม” แสดงว่าทีมเรานั้นสู้กับทีมตรงข้ามอย่างมีประสิทธิภาพเพียงแค่ 80 นาที เท่านั้น
ฟุตบอลสมัยใหม่ต้องเล่นไปคิดไปนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2559

ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก คุณอยากเห็นไทยอยู่สายไหน?







วันที่ 12 เมษายนนี้แล้วครับที่เราจะได้รู้กันว่า ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 12 ทีมสุดท้ายโซนเอเชียนั้นทีมชาติไทยของเราจะอยู่สายไหนกันแน่
.
.
ในรอบนี้จะแบ่งออกเป็น 2 สาย สายละ 6 ทีม แข่งเหย้าเยือนแบบพบกันหมด โดยทีมที่มีคะแนนอันดับที่ 1 และ 2 ของแต่ละสาย จะได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2018 ที่รัสเซียโดยอัตโนมัติ และทีมที่ได้อันดับ 3 ของทั้ง 2 สายมาเตะเพลย์ออฟอีกครั้ง ผู้ชนะจะได้ไปเตะเพลย์ออฟกับแชมป์เอเชียโอชิเนีย นี่คือตั๋วบอลโลก 4 ใบครึ่งที่ทีมในเอชียต้องแย่งชิง
.
แม้ว่าในรอบนี้ทีมชาติไทยจะมีคะแนนอันดับโลกเป็นอันดับสุดท้ายก็ตาม แต่เวลาอยู่ในสนามแข็งขันอันดับโลกไม่เกี่ยวนะครับ ยิ่งเล่นในบ้านด้วยแล้วล่ะก็ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น
แต่ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ขณะที่ศรัทธาแฟนบอลไทยมีอย่างล้นหลามขนาดนี้ ส่วนตัวอยากให้เราอยู่สายร่วมกับ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุฯ UAE กาตาร์ กันไปเลย จะได้เห็นทีมชั้นนำของเอเชีย มาเยือนทีมไทยในยุคที่แฟนบอลแน่นสนาม บรรยากาศคงจะสุดยอดมากนะครับ ที่สำคัญเราจะได้รู้กันว่าเราคือคู่แข่งกับทีมเหล่านี้แล้วหรือยัง แล้วคุณๆล่ะครับคิดอย่างไรกันบ้าง ลองโพส Comment กันมาได้เลยนะครับอยากรู้ว่าคิดเหมือนกันมั้ย?




                                                                                  

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559

เทคโนโลยี ไม่ได้มีไว้แค่เท่..!!









ในยุคสมัยแห่ง Big Data ที่ข้อมูลและสถิติเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งในโลกของฟุตบอล สถิติและ Data ต่างๆได้ถูกนวัตกรรมทางเทคโนโลยีชำแหละเอาข้อมูลที่เกิดขึ้นทุกฝีก้าวในสนาม ออกมาให้เราได้เห็นในสิ่งที่ตาเปล่านั้นไม่เคยมองเห็นมาก่อน กระนั้นก็ตามข้อมูลเหล่านั้นจะมีประโยชน์อะไร หากผู้ที่ได้ข้อมูลไปแล้วไม่สามารถทำการวิเคราะห์ต่อและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทีมได้

เรามักได้เห็นการนำเสนอข้อมูลสถิติผ่านทางสื่อต่างๆอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมสำคัญๆ และนับวันก็มีข้อมูลที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น เทคโนโลยีสามารถบอกได้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร ได้อย่างแม่นยำและน่าทึ่งมากครับ แต่ในส่วนของโค้ชหรือผู้จัดการทีมนั้น จะต้องมีมุมมองของนักวิเคราะห์ที่สามารถแปลความหมายข้อมูลเหล่านั้นให้ออก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขและพัฒนาข้อบกพร่องของทีม รวมถึงวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของคู่ต่อสู้ได้ ซึ่งมันจะนำไปสู่การวางแผนและรูปเกมในเวลาที่ต้องเจอกัน

ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อข้อมูลบอกว่า ผู้เล่นคนหนึ่งในตำแหน่งกองหน้านั้นมีเส้นทางการวิ่งที่ไกลมากมี Heat Map อยู่ในแดนตัวเองสูง และหลายครั้งก็ลงมาถึงมุมธงและหน้าปากประตูของฝั่งตนเอง โค้ชจะวิเคราะห์ข้อมูลนี้อย่างไร โค้ชบางคนอาจยกย่องว่าผู้เล่นกองหน้าคนนั้นว่ามีความขยันและรับผิดชอบมาก ลงมาช่วยไล่บอลถึงหน้ากรอบประตูฝั่งตนเอง แม้กระทั่งผู้บรรยายเกมก็ชมผู้เล่นคนนี้ว่ามีความมุ่งมั่นกับเกมสูง ซึ่งเรามักได้ยินกันบ่อยๆจนเกิดความเชื่อว่าถูกต้อง แต่ในขณะที่โค้ชอีกคนนั้นกลับตำหนิผู้เล่นคนดังกล่าวว่า ทำสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตัวเองหากทีมตัดบอลได้ แล้วไม่มีข้างหน้าอยู่ใครจะเป็นคนทำประตู และทำให้ระยะในการทำเกมรุกนั้นไกลเกินไป..!! ส่งผลทำให้ทีมตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำเกมรุกได้ลำบาก

หรือกระทั่งข้อมูลสดๆร้อนๆในเกม ยูฟ่า แชมเปี้ยน ลีกระหว่าง บาเซโลน่า กับ แอตแลนติโก มาดริด สถิติบ่งบอกว่าบาเซโลน่านั้นต่อบอลกันสำเร็จถึง 623 ครั้งจากความพยายาม 701 ครั้งในขณะที่ แอตแลนติโก มาดริด ของเซมิโอเน่ ต่อบอลได้ 156 ครั้งจากความพยายาม 231 ครั้ง โอเคแอตฯมาดริดอาจจะมีผู้เล่นที่น้อยกว่าก็จริงแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรปล่อยให้ผู้เล่นของบาเซโลน่าต่อบอลกันได้ถึงขนาดนั้น และผลการแข่งขันก็ออกมาตามที่คุณๆได้ทราบกันไปแล้ว แต่ทว่าหากเราวิเคราะห์ข้อมูลของระยะในการการต่อบอลของทีมเจ้าบุญทุ่มแล้วล่ะก็ จะเห็นว่าโดยมากแล้วเป็นการต่อบอลในระยะสั้น แน่นอนล่ะว่าเป็นการออกบอลให้ที่ตัว การรับมือกับวิธีการเล่นแบบนี้จะต้องทำอย่างไร ต้องมาร์คชิดใช่หรือไม่ เพราะหากปล่อยให้เคาะไปเรื่อยๆแบบนั้นก็คงหาจังหวะเข้าทำได้แน่ๆ

หรืออีกข้อมูลที่น่าสนใจคือ บอลที่ไปถึง เมสซี่ นั้นมาจาก อัลเวสและอิเนสต้า มากที่สุด เพราะฉะนั้นหากแอตฯมาดริดจะลดประสิทธิภาพของ เมสซี่ ลงควรต้องทำอย่างไร แต่การที่ผู้เล่นทั้งทีมลงไปกองหน้าปากประตูนั้น คงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้องและใช้พละกำลังที่เยอะกว่าอีกด้วย

ถึงตรงนี้จึงอยากชี้ให้เห็นครับว่าแม้เทคโนโลยีจะนำมาซึ่งข้อมูลที่หลากหลายและละเอียดถี่ยิบสักเพียงใดก็ตาม แต่การนำเอาข้อมูลไปวิเคราะห์ต่างหากเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ย้อนกลับมามองในบ้านเรา น่าจะเริ่มเก็บข้อมูลเหล่านี้กันได้แล้วนะครับ โค้ชและทีมงานเองจะได้ฝึกการ คิดเคราะห์แยกแยะข้อมูล ก็ไหนเราบอกว่าเราจะไปบอลโลก ถามเกมนึงผู้เล่นทั้งทีมเราวิ่งไประยะทางเท่าไร ใช้พลังงานไปเท่าไร เรารู้รึยังครับ?


วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

"เลสเตอร์" กับฤดูกาลมหัศจรรย์เกิดขึ้นได้เพราะ?








วันก่อนผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับพี่ที่นับถือท่านนึงว่า “นี่ถ้าใครนอนหลับไปซัก 1 ปีแล้วตื่นขึ้นมาตอนนี้ แล้วมีคนบอกว่า เลสเตอร์ กำลังจะคว้าแชมป์ พรีเมียร์ ลีกในฤดูกาลนี้ไปครอง” คงเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจให้เชื่ออย่างนั้นได้เป็นแน่


เอาว่าแม้แต่เราๆท่านๆเองตอนนี้ก็ยังแทบไม่อยากจะเชื่อเหมือนกัน ว่าทีมที่สร้างด้วยเงินลงทุนเพียงแค่ 57 ล้านปอนด์(3,135 ล้านบาท) จากกลุ่มทุนแห่ง คิงส์ เพาเวอร์ จะมีฤดูกาลอันแสนมหัศจรรย์ชนิดหักปากกาเซียนทุกสำนักแบบ 5000 : 1 


หรือความสำเร็จของ จิ้งจอกสยาม อาจเป็นเรื่องบังเอิญที่ เจมี วาดี้ ท้อปฟอร์มยิง 12 นัดติด บังเอิญริยาด มาเรซ มาพีคเอาปีนี้ บังเอิญว่าเป็นทีมที่ชนะมากที่สุดในลีก บังเอิญเป็นทีมที่แพ้น้อยที่สุดในลีก บังเอิญว่า บลา บลา บลา มันคงไม่ใช่กระมัง เพราะความสำเร็จในฟุตบอลลีก ที่ได้ชื่อ "หิน" ที่สุดในโลก คงไม่มีทางจะได้มาเพราะโชคช่วยอย่างแน่นอน แต่เป็นเพราะทุกอย่างล้วนมาจากการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วทั้งสิ้น
เลสเตอร์ เป็นทีมที่มี Concept และเป้าหมายในการเล่นฟุตบอลอย่างชัดเจน พวกเค้ารู้ว่าควรจะทำไรในสถานการณ์แบบไหน เมื่อเป้าหมายชัด วิธีการจึงตามมา ตรงนี้ต้องยกเครดิตให้ เคลาดิโอ รานิเอรี่ ไปเต็มๆ ผมทายใจว่า รานิเอรี่เองก็คงประเมินขุมกำลังตั้งแต่ตอนต้นฤดูกาลแล้วว่าแม้ เลสเตอร์ จะเป็นแค่ทีมเล็กๆทีมหนึ่ง แต่โค้ชที่ดีนั้นต้องคิดอยู่เสมอว่าทีมนั้นสู้ได้** เมื่อคิดว่าสู้ได้ ก็จะพยายามหาหนทางสู้ ทำอย่างไรถึงสู้กับทุกทีมได้ และจะเอาอะไรไปสู้ ในทางกลับกันหากคิดว่าสู้ไม่ได้หรือสู้ทีมอื่นได้ยาก ก็จะไม่คิดหาหนทางเพื่อเอาชนะนั่นเอง 

ถ้าลองเอาผลงานของเลสเตอร์ในฤดูกาลนี้มาวิเคราะห์ดู จะเห็นว่าชัยชนะในแต่ละนัดนั้น สกอร์ที่เหนือกว่าคู่แข่งไม่ได้ขาดลอยซักเท่าไรเลย มิหนำซ้ำนัดหลังๆนี่แทบจะผูกขาดชนะแค่ 1-0 มาโดยตลอด มันบ่งบอกว่านี่ไงศักยภาพทีมเล็กก็ชนะได้เท่านี้แหละครับ แต่ประเด็นคือสามารถยืนระยะชนะอย่างต่อเนื่องได้อย่างไรต่างหากเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า แสดงว่าแต่ละนัดนั้นย่อมเกิดมาจากการวาง “แทคติค” และแฝงไปด้วยรายละเอียดของวิธีการเล่นไว้อย่างดีทุกขั้นตอน เพราะถ้ามีผู้เล่นเพียงไม่กี่คนที่ไม่ทำตามสิ่งที่รานิเอรี่วางเอาไว้ เชื่อแน่ว่า เลสเตอร์ ไม่มีทางจะมาถึงจุดนี้ได้อย่างแน่นอน

ครั้งหนึ่งที่บรมกุนซือจากค่ายโอลด์ แทรฟฟอร์ด อย่างเซอร์ อเล็กซ์ เฟอกูสัน ได้เคยออกมากล่าวไว้ว่า “ในฟุตบอลนั้น คุณต้องทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เป็นไปได้ คุณถึงจะประสบกับชัยชนะ” ซึ่งฤดูกาลนี้ลูกทีมของ รานิเอรี่ ก็กำลังทำสำเร็จในสิ่งที่ เฟอร์กูสัน ได้บอกไว้

นี่แหละคือความสวยงามที่เกิดขึ้นในโลกของฟุตบอล ไม่จำเป็นว่าทีมนั้นจะต้องลงทุนมหาศาล หรือใช้ผู้เล่นที่มีความสามารถสูงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะประสบความสำเร็จ หากแต่ฟุตบอลยังมีแง่มุมอื่นอีกที่จะทำให้ทีมนั้นประสบความสำเร็จได้ ขอบคุณ เลสเตอร์ ที่ทำให้เห็นว่ามันทำได้จริง ในเมื่อมันเกิดกับทีมอย่างเลสเตอร์ได้ ก็หวังว่าจะเกิดกับทีมสโมสรอาชีพของไทยที่ไปเล่น เอเอฟซี แชเปี้ยน ลีก หรือทีมชาติไทยที่กำลังจะคัดเลือกฟุตบอลโลกรอบสามได้ด้วยเช่นกัน เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่แล้วเราจะกลายจากทีมรองบ่อนเป็นทีมคู่แข่งทันทีครับ


ว่าด้วยเรื่องของ Position (2)










ในหลักของ “ฟุตบอลสมัยใหม่” นั้น การควบคุมพื้นที่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง 1 Position ต้องมีผู้เล่นเพียงแค่ “คนเดียว” 11 คนต้องควบคุมพื้นที่ทั้ง 11 Position ยกเว้นในบางกรณีที่เป็นเงื่อนไข** หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น

แต่สิ่งที่มักพบเห็นกันอยู่บ่อยๆ ทั้งในเกมระดับสโมสรและระดับชาติคือ การที่ผู้เล่นไปล้วงบอลจากเท้าของเพื่อนร่วมทีม ผลที่ตามมาคือ


1. ทำให้ 1 Position มีผู้เล่นมากกว่า 1 คนโดยไม่จำเป็น

2 ในขณะที่ผู้เล่นลงไปล้วงบอลจากเพื่อน(ผู้เล่น A ไปล้วงบอลที่ผู้เล่น B ตามกราฟฟิค) ก็จะนำเอาคู่ต่อสู้เข้าไปกดดันคนที่มีบอล (ผู้เล่นB) ไปด้วย

3 ทั้งๆที่ แม้ผู้เล่น A ไม่ลงไปล้วงบอล ผู้เล่น B ก็สามารถจ่ายบอลได้อยู่ดี

4 สูญเสียพื้นที่ในแนวรุกอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ดังนั้นหากผู้เล่นมีความเข้าใจถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละครั้งจากการตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไรบางอย่างก็ย่อมส่งผลที่แตกต่างกัน ในเกมฟุตบอลนั้นผู้เล่นต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่า คนมีบอลนั้นมีความสำคัญด้วยตัวมันเอง แต่คนไม่มีบอลสำคัญกว่าเพราะมีถึง 10 คน คนไม่มีบอลอาจทำให้คนไม่มีบอลเสียการครองครองบอลได้ ซึ่งก็จะส่งผลต่อรูปเกมและผลการแข่งขันในที่สุด


ว่าด้วยเรื่องของ Position (1)








ผมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นครึ่งหลัง ในเกมอุ่นเครื่อง ระหว่างทีมชาติไทย กับ ทีมชาติเกาหลีใต้ เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า
.
ฟุตบอล นั้นเป็นเกมที่ชิงไหวชิงพริบและความได้เปรียบกันอยู่ตลอดเวลา

ตำแหน่ง หรือ Position ในการยืนของผู้เล่นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์เกมรับ หรือเกมรุกก็ตาม ผู้เล่นจะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ทำอย่างไรที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด เช่น ผู้เล่นในตำแหน่งกองหลังต้องได้รับการเรียนรู้ว่า หากทำให้กองหน้าฝ่ายตรงข้ามหันหลังให้กับประตู นั่นคือฝ่ายตนได้เปรียบ ในขณะที่กองหน้าเองก็ต้องรู้ว่าทำอย่างไรถึงจะหนีการมาร์คจากกองหลังคู่ต่อสู้และเข้าไปอยู่ในพื้นที่อันตรายให้ได้มากที่สุด ในการเคลื่อนที่แต่ละครั้งนั้นย่อมแฝงไปด้วยแทคติคเสมอ ทีมฟุตบอลที่ดีมักจะรู้ว่าต้องใช้พละกำลังให้น้อยที่สุด แต่ต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 

แค่ยืนได้เปรียบตลอด 90 นาทีก็มีโอกาสเป็นผู้ชนะสูงแล้วครับ






ช่องว่างทีมชาติไทย กับ Top Asia เหลือแค่ไหน?









ช่องว่างทีมชาติไทยกับ Top Asia เหลือแค่ไหน?
.
ทีมชาติไทยภายใต้การกุมบังเหียนของโค้ช “ซิกโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ตั้งแต่ชุดแชมป์ซีเกมส์ปี 2556 ต่อเนื่องมาที่แชมป์ AFF SUZUKI CUP เรื่อยมาจนถึงขณะนี้เราเป็นแชมป์กลุ่ม F ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย หากมองในแง่ของปรากฏการณ์กระแสฟุตบอลบอลฟีเวอร์นั้น เรียกว่าโค้ชซิโก้สามารถกอบกู้ศรัทธาจากที่เคยติดลบให้กลับมาเป็นกระแสสนับสนุนอย่างล้นหลามได้อย่างน่าชื่นชม 
.
เป้าหมายต่อไปอยู่ที่การพาทีมชาติไทยไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2018 ที่ประเทศรัสเซีย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ก็ต้องผ่านรอบคัดเลือกรอบที่ 3 ให้ได้ โควตา 4 ทีมครึ่งสำหรับทีมในโซนเอเชียนั้น ถามว่ามีโอกาสความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่ทีมชาติไทยจะคว้าตั๋วเข้าร่วมรอบสุดท้าย คงต้องมองไปที่องค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วนด้วยกันคือ หนึ่งทีมเราเอง และสองคือคู่ต่อสู้
.
แน่นอนว่ารอบ 12 ทีมสุดท้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆยิ่งถ้ามองไปถึงทีมที่ไปแน่นอนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเจ้าประจำฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ซาอุดิอาระเบีย นั้นมากันครบ พ่วงมาด้วยทีมเบอร์ใหญ่อย่าง อุซเบกิสฐาน อิหร่าน และกาตาร์ และอาจจะมีทีมอย่าง UAE เกาหลีเหนือ จีน คูเวตหรือ โอมาน เข้ามาสมทบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าไทยเราจะจับไปอยู่สายไหนก็ตามล้วนแต่หนักทั้งสิ้น 
.
ไหนๆก็ไหนๆถ้า “เป้าหมาย” ของทีมชาติอยู่ที่ไปบอลโลก ก็ให้คิดไปถึงการหาหนทางที่จะสู้กับทีมเจ้าประจำไปเลยดีกว่า ทำอย่างไรถึงจะต่อกรกับทีมระดับนั้นได้ ถ้าเรายกระดับให้เทียบเท่ากับทีมเหล่านั้นได้ ก็ไม่ต้องมองถึงทีมในระดับที่รองลงมา แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของฟุตบอล คือ เทคนิค ฟิตเนส แทคติค และ ทัศนคติ เรายังอาจเป็นรองอยู่พอสมควร ทำอย่างไรที่เราจะลดช่องว่างให้ใกล้เคียงและใช้เวลาอันสั้นที่สุด ลองจำแนกอย่างคราวๆประมาณนี้นะครับ จะได้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น
.
เทคนิค หรือความสามารถเฉพาะตัว ชั่วโมงนี้แม้จะเป็นรองก็ไม่มาก เค้าเลี้ยงหลบเราได้ เราก็เลี้ยงหลบเค้าได้ ผ่านบอล 5 หลา 15 หลา ความแม่นยำก็ใกล้เคียง เอาล่ะ เรื่องเทคนิคอาจเป็นรองอยู่บ้างแต่ก็ไม่ถึงกับห่างชั้น 
.
ฟิตเนส ด้วยความที่ฟุตบอลบ้านเราตอนนี้ลีกอาชีพดีวันดีคืน ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาก็ใช้แบบเดียวกันทั่วโลก ส่งผลให้กล้ามเนื้อ ความฟิต ความเร็ว ความแข็งแกร่ง นั้นบอกได้เลยว่าชนกับ เกาหลี ญี่ปุ่นได้สบาย บางทีถ้าเทียบกันตัวต่อตัว ตำแหน่งต่อตำแหน่งเผลอๆเราอาจเหนือกว่าก็ได้ แต่โดยรวมถือว่า ใกล้เคียงกันมากแล้วครับ
.
แทคติคและระบบ คือเรื่องที่น่าห่วงที่สุดในตอนนี้ เพราะเท่าที่ผ่านมา ถ้าเราเจอทีมที่แทคติคไม่ดีหรือไม่มีวิธีการ เรามักจะสู้ได้เนื่องจากเทคนิคและฟิตเนสช่วยไว้ได้มาก เห็นได้จากรอบคัดเลือกที่ผ่านมา ทีมอย่าง อิรัก ที่ดูว่าเหนือกว่าเรา แต่ทั้งสองนัดที่เจอกัน ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า อิรัก นั้นไม่ได้มีรูปแบบการเล่นที่ดีเลย แม้จะมีความสามารถเฉพาะตัวที่ดีกว่าก็ใช่ว่าจะกินเราได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำยังแทบเอาตัวไม่รอดด้วยซ้ำ ที่ผ่านมาทีมไทยพยายามปรับสไตล์การเล่นที่ดูสนุกขึ้น โดยเฉพาะเกมรุกนั้นมีการต่อบอลกันสวยๆให้เห็นหลายครั้ง แต่ก็ยังทำได้กับเฉพาะทีมในระดับที่ต่ำชั้นกว่าเท่านั้น เรายังไม่เห็นภาพแบบนั้นเกิดขึ้นเมื่อเจอกับคู่แข่งที่เหนือกว่า เมื่อเราเจอทีมที่มีวิธีการ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น เรามักจะตกเป็นรองอย่างเห็นได้ชัดเสมอ มาตรฐานของทีมระดับนั้นผู้เล่นเล่นด้วยความเข้าใจฟุตบอลสูงกว่าเรามาก ทำให้ดูว่าเหนือกว่าเราค่อนข้างเยอะ กระนั้นก็ตามแม้ทีมเหล่านั้นจะมีแทคติคที่ว่าเหนือกว่าเรา แต่แต่ในมุมมองของผมก็ยังไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบเท่าที่ควร แต่แน่นอนล่ะดีกว่าเราแน่ กำลังจะชี้ให้เห็นว่า “แทคติค” จึงเป็น “หัวใจ” ที่สำคัญของฟุตบอลที่แท้จริง แม้ด้านอื่นเป็นรองไม่มากแต่เมื่อแทคติคเป็นรองก็อย่างไรก็กลายเป็นละชั้นอยู่ดี
.
ทัศนคติ หรือ Attitude อันนี้ต้องบอกว่าขอยกความดีความชอบให้กับการที่เรามีลีกอาชีพที่แข็งแกร่งขึ้น ผู้เล่นทีมชาติไทยล้วนสังกัดอยู่ในสโมสรฟุตบอลชั้นนำของประเทศทั้งสิ้น ในลีกผู้เล่นได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพของตัวผู้เล่นต่างชาติที่มาค้าแข้งในบ้านเราต้องบอกว่าช่วยยกมาตรฐานของผู้เล่นไทยในลีกได้มากเลยทีเดียว ทำให้เมื่อไปเล่นในระดับชาติผู้เล่นไทยจึงไม่กลัวผู้เล่นต่างชาติอีกต่อไป กระนั้นก็ตามหากมองในมุมของทีมที่เรากำลังไปเทียบชั้นแล้วล่ะก็ มุมมองที่ทีมเหล่านั้นมีต่อเราก็คือ แม้ทีมเราจะพัฒนามากขึ้นเพียงใดก็ตาม ทีมเหล่านั้นก็ยังคิดว่าเหนือกว่าเราอยู่ดี เนื่องจากความเข้าใจฟุตบอลที่สูงกว่าเรานั่นเอง
.
เมื่อนำทุกองค์ประกอบทุกด้านของฟุตบอลมาคำนวณระยะห่างระหว่างทีมไทยกับ ทีม Top Asia แม้เราจะดีขึ้นในเรื่องของเทคนิค และสมรรถภาพ หากแต่เรื่องของ แทคติค ที่เป็นหัวใจสำคัญของเรายังเป็นรองอยู่มาก ซึ่งจะส่งผลไปยัง ทัศนคติของทีม ถ้าวันนี้เราคิดจะล้มทีมเหล่านั้นให้ได้ ก็ต้องหันกลับมาแก้เรื่อง ระบบ แทคติค และวิธีการเป็นการด่วน อย่างที่บอกไปเมื่อตอนต้นว่าแทคติคของทีมที่เหนือกว่าเราทำได้แค่ “ดีกว่า” แต่ยังไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ นี่จึงเป็นจุดที่น่าสนใจว่าเรายังมีโอกาสพัฒนาเรื่องแทคติคให้ทัดเทียมและเหนือกว่าได้ด้วยซ้ำ ซึ่งผมยังเชื่อมันว่าด้วยศักยภาพของผู้เล่นทีมชาติไทยชุดนี้ รวมไปถึงผู้เล่นทีมชาติไทยในอนาคต นั้นสามารถพัฒนาไปถึงการเล่นฟุตบอลในเชิง “ยุทธศาสตร์” ได้แน่นอน ปัญหาอยู่ที่ว่าโค้ชจะมองเห็นตรงจุดนี้หรือไม่ ที่สำคัญจะสร้างขึ้นมาได้หรือเปล่า เพราะที่ผ่านมาต้องบอกว่า แทคติคของทีมชาติไทยยังธรรมดาอยู่มากครับ

8 คุณสมบัติของลูกฟุตบอล ที่ใช้แข่งรายการมาตรฐาน







8 คุณสมบัติของลูกฟุตบอลที่ใช้แข่งรายการมาตรฐาน


เมื่อพูดถึงกีฬาลูกกลมๆ ลมอยู่ข้างใน อันเป็นที่คลั่งไคล้อันดับหนึ่งของประชากรโลกอย่างฟุตบอลนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเสน่ห์ของกีฬาชนิดนี้ก็คือ “ความกลม” ของลูกบอล ที่ไม่อาจคาดเดาได้ว่ามันจะกลิ้งไปทางไหน 

ลูกบอลที่ออกจากเท้าแต่ละครั้งนั้นใช่ว่าจะไปในทิศทางเดิมเสียเมื่อไร เมื่อรวมเข้ากับเทคนิคลีลาหลอกล่อของนักฟุตบอลเข้าด้วยแล้ว ฟุตบอลจึงเป็นกีฬาที่ครองใจคนทั่วโลกมาจวบจนถึงทุกวันนี้ ทีนี้ลูกบอลที่ใช้เตะกันอยู่ในการแข่งขันรายการมาตรฐานนั้น ก็ย่อมต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน เรามาดูกันว่า 8 คุณสมบัติมาตรฐานที่ลูกบอลต้องมีนั้นมีอะไรกันบ้าง

1. แน่นอนล่ะว่าต้องเป็นทรงกลม

2. ต้องทำด้วยหนังหรือวัสดุอื่นๆที่เหมาะสม วัสดุที่ใช้ทำลูกฟุตบอลต้องไม่ใช่แบบหนังอัด หรือสักหลาด ในการแข่งขันรายการระหว่างประเทศ

3. ความยาวของเส้นรอบวงไม่น้อยกว่า 62 เซนติเมตร และไม่มากกว่า 64 เซนติเมตร

4. ในขณะเริ่มทำการแข่งขันน้ำหนักต้องไม่น้อยกว่า 400 กรัมและไม่มากกว่า 440 กรัม

5. ความดันลมเมื่อวัดที่ระดับน้ำทะเล เท่ากับ 0.4-0.6 (400-600กรัม/ตารางเซนติเมตร)

6. ลูกบอลต้องกระดอนจากพื้นไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร และไม่เกินกว่า 65 เซนติเมตร ในการกระดอนครั้งแรกโดยจะปล่อยจากความสูง 2 เมตร

7. การแข่งขันที่จัดภายใต้ความรับผิดชอบของสหพันธ์ฟุตบอลต่าง ๆ ลูกบอลที่ถูกยอมรับให้ใช้ได้ ต้องมีเงื่อนไขแสดงไว้บนลูกบอลข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

- สัญลักษณ์ "ได้รับการรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA APPROVED)"
- สัญลักษณ์ "ได้รับการตรวจสอบจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA INSPECTED)" หรือ
- มีเครื่องหมายอ้างอิงว่า ลูกบอลมาตรฐานใช้แข่งขันระหว่างชาติ (INTERNATIONAL MATCH BALL STANDARD

8. การแข่งขันภายใต้การดูแลรับผิดชอบของสหพันธ์ฟุตบอล(FIFA) และสมาคมแห่งชาติต่างๆไม่อนุญาตให้มีการโฆษณาสินค้าใดๆบนลูกบอล ยกเว้นตราสัญลักษณ์ของการแข่งขัน ระเบียบการแข่งขันอาจจำกัดและจำนวนของแต่ละเครื่องหมายก็ได้

10 เหตุการ์ประวัติศาสตร์ ที่แฟนบอลไทยควรรู้









ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หากมีใครคนหนึ่งบอกว่าฟุตบอลอาชีพของไทย จะมีแฟนบอลเข้าชมเกมเป็นเรือนหมื่น หรือในนัดที่ทีมชาติไทยลงเตะจะมีแฟนบอลเข้าไปเชียร์เต็มสนาม แถมยังมีการเชียร์ที่เป็นระบบก็คงจะไม่มีใครเชื่อ 


ลีกไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นลีกที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จนเป็นลีกอันดับหนึ่งของอาเซี่ยนในเวลานี้ และสร้างความสุขให้กับแฟนบอลทั้งในนามสโมสรและทีมชาติอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และเชื่อว่ายังจะพัฒนาต่อไปอีกแน่นอน 
.
นี่คือ 10 เหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์ฟุตบอลไทย ซึ่งยุคเริ่มต้นนั้น ผู้ที่นิยมชมชอบการเตะฟุตบอลนั้นจะถูกขนานนามว่า "นักเลงลูกหนัง" และคนทั่วไปรู้จักกีฬาชนิดนี้ว่า "หมากเตะ" 

1. ปีพ.ศ. 2441 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย คือผู้นำการเล่นฟุตบอลเข้ามาสู่สยาม 

2. วันเสาร์ที่ 2 มีนาคม ปีพ.ศ. 2443 เป็นฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ ถือเป็น เกมฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกของประเทศไทยจัดขึ้น ณ ท้องสนามหลวง ระหว่าง “ทีมบางกอก” ซึ่งเป็นคนอังกฤษทั้งหมดกับ “ทีมศึกษาธิการ” ซึ่งมีทั้งชาวสยามและยุโรป ผลเสมอกัน 2 - 2 (0 - 1) หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (THE BANGKOK TIMES) เรียกการเล่นนั้นว่า "ASSOCIATION FOOTBALL" หรือ "การแข่งขันฟุตบอลตามข้อบังคับ ของแอสโซซิเอชั่น" อย่างเป็นทางการครั้งแรกในเมืองสยาม และลงบทความวิจารณ์ประโยคหนึ่งว่า "กีฬาฟุตบอล คือศิลปะชิ้นล่าสุดที่ควรค่าแก่การยกย่องในทุกด้าน"

3. ในวันที่ 11 กันยายน - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2458 รัชกาลที่ 6 ทรงรับเป็นประธานคณะกรรมการ “ฟุตบอลถ้วยทองของหลวง” เพื่อจัดแข่งขันฟุตบอลระหว่างสโมสรหรือทัวร์นาเมนท์ (TOUR NAMENT) แรกของสยาม พร้อมทั้งพระราชทานถ้วยทองเป็นรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ จึงเรียกว่า "การแข่งขันฟุตบอล สำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง" ณ สนามฟุตบอลสโมสรเสือป่าหรือสนามม้าสวนดุสิต 

4. ปีพ.ศ. 2499 ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการเปลี่ยนชื่อ “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศสยาม” เป็น “สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” (THE FOOTBALL ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTIC THE KING) หรืออักษรย่อ F.A.T.

5. วันที่ 22 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ทีมชาติไทยได้สิทธิ์ผ่านลงเล่นรอบ 16 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันฟุตบอลกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 16 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย 

6. วันที่ 12 - 27 ตุลาคม พ.ศ. 2511 ทีมชาติไทยประสพความสำเร็จอีกครั้งในรอบ 12 ปี เมื่อสามารถผ่านรอบคัดเลือก ปรี-โอลิมปิก จัดที่กรุงเทพมหานคร เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียในกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 19 ณ นครเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก

7. ปีพ.ศ. 2512 สมาคม ฟุตบอลแห่งประเทศไทย จัดการแข่งขันให้เป็นแบบดิวิชั่น (DIVISION) ของประเทศอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรก โดยแบ่งระดับ มาตรฐานของทีมที่เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทานประจำปี ออกเป็น 4 ถ้วย คือ ถ้วย ก. ถ้วย ข. ถ้วย ค. และถ้วย ง. 

8. ปีพ.ศ. 2549 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ และ กกท.(การกีฬาแห่งประเทศไทย ตัดสินใจยุบรวมสองลีกเข้าเป็นหนึ่งเดียว โดยรับเอา 2 สโมสรที่มีผลงานดีที่สุดจากโปรลีกเข้ามาร่วมทำการแข่งขันกับสโมสรชื่อดังในกทม. การรวมตัวครั้งนั้นทำให้การแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยประกอบขี้นจากสโมสร องค์กร-หน่วยงาน และ สโมสรท้องถิ่น เป็นครั้งแรก

9. พ.ศ. 2550 สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อการแข่งขัน เป็น “ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก” โดยมีการยุบโปรวินเชียลลีก แล้วให้สโมสร 4 อันดับแรก เข้าแข่งขันในรายการนี้แทน รวมจำนวนสโมสรในไทยแลนด์พรีเมียร์ลีกเป็น 16 ทีม พร้อมทั้งเพิ่มเงื่อนไขให้สโมสรซึ่งอยู่ใน 3 อันดับสุดท้ายเมื่อจบฤดูกาล ต้องตกชั้นไปสู่ไทยลีกดิวิชั่น 1 โดยมีทีมชนะเลิศ กับอันดับ 2 และ 3 ของไทยลีกดิวิชั่น 1 เลื่อนชั้นมาสู่ไทยพรีเมียร์ลีกเป็นการทดแทน และเมื่อสิ้นสุดฤดูกาล 2550 นั้นเอง ฉลามชล ชลบุรี FC ยอดทีม จากฝั่งตะวันออกที่มีฐานแฟนบอลของสโมสรรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น สามารถคว้า ตำแหน่งแชมป์ลีกไปครองชนิดเหนือความคาดหมาย จุดนี้เองทำให้กระแสคลั่งไคล้ฟุตบอลไทยลีกก่อตัวขึ้นช้าๆ แม้จะเริ่มมีกระแส ชลบุรีฟีเวอร์ เกิดขึ้น ก็ยังไม่อาจเรียกการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยว่าเป็นลีกอาชีพได้เต็มปากเต็มคำนักจนเมื่อ...

10. พ.ศ. 2551-2554 สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ AFC ประกาศวิสัยทัศน์ “วิชั่นเอเชีย” ตั้งเป้าให้ สโมสรฟุตบอลเอเชียดำเนินกิจการอย่างมืออาชีพ และข้อบังคับของวิชันเอเชียก็มีนับ 10 ข้อ ที่สำคัญ เช่น ให้สโมสรฟุตบอลต้องจดทะเบียนนิติบุคคลแสวงหาผลกำไรและรายได้ในรูปบริษัท และธุรกิจอย่างเต็มตัว ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับเป็นประเทศชั้นสองของวงการลูกหนังเอเชีย นั่นคือ ถูกตัดสิทธิ์ส่งทีมลงเล่นในถ้วยสูงสุดของสโมสรเอเชีย คือ AFC Champions League ที่มีเงินรางวัลก้อนใหญ่เป็นรายได้ให้สโมสรอย่างมหาศาล จุดนี้เองเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงระบบฟุตบอลอาชีพของเมืองไทยขนานใหญ่ เป็นผลให้สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ต้องดำเนินการจัดตั้ง “บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด” เป็นผู้ดำเนินการจัดการแข่งขันลีกสูงสุดของประเทศ เหล่าบรรดาสโมสรสมาชิกต่างมีความตื่นตัวในมาตรฐาน โดนเฉพาะการให้ความสำคัญของ “Club Licensing” นำมาซึ่งการพัฒนาในทุกด้านจวบจนถึงทุกวันนี้

นับเนื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ฟุตบอลไทยได้ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน มีทั้งช่วงยุคทองและล้มลุกคลุกคลาน แต่ดูเหมือนว่านาทีนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังดำเนินไปตามวิถีทางที่ถูกต้องของฟุตบอลอาชีพ เป็นสถาบันที่สร้างความสุขให้กับผู้คนนับล้าน หากวันนี้คุณมีทีมที่คุณรักอยู่แล้วขอให้ช่วยกันสนับสนุน และช่วยเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน “แพ้” หรือ “ชนะ” คือเกมกีฬา แต่การเข้าร่วมการแข่งขันอย่างมีสปิริตต่างหาก คือหัวใจของฟุตบอลอย่างแท้จริง ส่วนใครที่ยังไม่มีทีมที่ตามเชียร์ ลองมองหาซักทีมหนึ่งและเริ่มมีส่วนร่วมสนับสนุนทีมนั้นดู แค่ซื้อของที่ระลึกซักชิ้นแล้วบอกกับตัวเองว่า “ทีมนี้พี่รัก” ไม่ว่าทีมนั้นแพ้หรือชนะ รับรองว่ามันจะทำให้ชีวิตคุณมีสีสันขึ้นอีกเป็นทวีคูณครับ