วันอังคารที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เสี่ยง = โอกาส !!







เสี่ยง = โอกาส !!


โดยปกติทีมที่เป็นแชมป์มักจะมีสถิติที่ดี ในปีนี้ Leicester City ได้แชมป์โดยที่ถ้าดูจำนวนประตูที่ยิงได้ หรือจำนวนประตูที่เสียไป ก็ไม่ได้พิเศษอะไร ไม่ได้ยิงประตูเยอะๆ เหมือนตอนที่ Man City ได้แชมป์ หรือเสียประตูน้อยสุดในลีกอย่างเวลาที่ Chelsea ได้แชมป์

แต่มันไม่ใช่แค่การยิง หรือเสียประตู สถิติต่างๆ ของ Leicester City ดูไม่ดีเท่าไร ถ้ามองจากมุมมองของนักวิเคราะห์บอลสมัยใหม่  นับตั้งแต่ประมาณกลางๆ ทศวรรษ 2000 การครอบครองบอลเป็นที่นิยมมากขึ้น ต่างจากการทีม Arsenal หรือ Man Utd ในยุคก่อนนั้นที่ชอบเล่นบอลเร็ว เพื่อรีบสร้างเกมรุก การครอบครองบอลกลายมาเป็นวิถีหลักในการควบคุมเกม และสร้างเกมรุก

เริ่มจาก Barcelona ในยุคของ Ronaldinho มาพีคสุดๆ ในช่วงที่ Barcelona และทีมชาติสเปนครองโลกด้วยการนำของ Xavi Hernandez และ Andres Iniesta นับตั้งแต่วันนั้นหลายคนหันมาเชื่อว่าการ “ครอบครองบอล” คือวิถีที่ดีที่สุดในการเล่นเกมรับ เพราะถ้าเรามีบอล เขาก็ยิงเราไม่ได้ และการสร้างเกมรุกที่ไม่เร่งรีบ ทำกันเน้นๆ จะสร้างโอกาสทำประตูที่มีคุณภาพมากกว่า เราถึงได้เห็นทีมอย่าง Arsenal หันมาเล่นบอลในรูปแบบนี้เช่นกัน

ที่สำคัญคือบริการเก็บสถิตินั้นถูกกระทบโดยความเชื่อของผู้คนในวงการเช่นกัน Squawka หนึ่งในบริการจัดเก็บสถิติชั้นนำของโลก เริ่มให้คะแนนผู้เล่นและทีมที่สามารถครอบครองบอลค่อนข้างสูง เพราะผู้เล่นที่ครอบครองบอลไว้ได้ดีถือว่าไม่สิ้นเปลื้อง ส่วนผู้เล่นที่เสียบอลบ่อยๆ ถูกตัดคะแนน โดยไม่สนว่าการเสียบอลแต่ละครั้งเป็นเพราะอะไร

ถ้าเราดู 10 อันดับของผู้เล่นใน Premier League ตามคะแนนของ Squawka เราจะไม่เห็นผู้เล่นของ Leicester เลยแม้แต่คนเดียว ผู้เล่นจากทีม Arsenal และ Spurs อันดับสองและสาม มีอยู่ถึง 7 ใน 10 ของ Top 10





ถ้าดูคะแนนของทีม Leicester ยิ่งดูแย่เข้าไปใหญ่ เพราะคะแนนรวมอยู่ที่อันดับ 9 และคะแนนการครอบครองบอลอยู่ที่อันดับ 19 ร่วมกับทีมหนีตกชั้น!!! ในขณะที่ทีม Arsenal อยู่อันดับ 1 เพราะคะแนนการครองบอลสูงกว่าทีมอื่นมาก เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ความแม่นยำในการจ่ายบอลของผู้เล่น Arsenal เฉลี่ยอยู่ที่ 85% ผู้เล่นที่จ่ายบอลแม่นที่สุดใน Leicester คือ N’Golo Kante ที่ 82% เท่านั้น 




จึงน่าถามว่าทำไมทีมที่คะแนนตามสถิติ ทั้งในระดับผู้เล่น และในระดับทีมโดยรวมแย่ขนาดนี้ ถึงได้แชมป์ลีก? ก่อนอื่นคุณว่ามันน่าสนใจไหมที่ การครองบอลถูกแยกออกมาเป็น 1 ใน 3 หมวดหมู่ใหญ่ในการวัดระดับทีม คู่กับ เกมรุกและ เกมรับอย่างที่บอกไว้ การครอบครองบอลเป็นสิ่งที่ผู้คนในวงการตีราคาไว้สูงมากในยุคนี้

แต่ถ้าเราดูวิถีการเล่นของ Leicester จริงๆ มันไม่ใช่ว่าพวกเขาจ่ายบอลแย่รองท้าย พวกเขาแค่เป็นทีมที่เล่นบอล “เสี่ยงสูง” คือวิถีทำเกมรุกต่างจากทีมใหญ่ทั่วไป คือไม่เน้นการครองบอลเป็นหลัก แต่เน้นการ “สร้างโอกาส” ด้วยการเล่นบอลทะลุทะลวง การเล่นบอลประเภทนี้อาจมีโอกาสความสำเร็จต่ำ แต่ถ้าสำเร็จ จะนำไปสู่โอกาสในการทำประตูที่สูงตามด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างที่ดีมากคือนัดที่ Leicester ชนะ Swansea 4-0 เมื่อวันที่ 24 เมษายน Swansea ในเกมนั้นครองบอลถึง 62% แต่มีโอกาสทำประตูแค่ 9 ครั้ง ต่อ Leicester 18 ครั้ง เราแทบไม่เคยเห็นเลยทีมอันดับ 1 ครองบอลแค่ 38% เมื่อเจอทีมที่ไม่ได้ลุ้นแชมป์กันเอง ในเกมนั้นไม่มี Jamie Vardy ด้วย Mahrez จึงต้องรับบทพระเอก ถ้าดูการจ่ายบอลของ Mahrez ในเกมนั้นจะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนมาก






จะเห็นได้ชัดว่าการจ่ายบอลไปข้างหน้าของ Mahrez นั้นเป็นการเน้นแทงบอลทะลุ มีการจ่ายบอลระยะยาวเข้าไปในกรอบเขตโทษหลายครั้ง

นี่คือเหตุผลที่ทำให้ Leicester จากมุมมองสถิติในยุคนี้ดูเป็นทีมที่เล่นไม่ดี สถิติแย่ แต่นั้นเป็นเพราะ Leicester เป็นทีมเดียวที่ได้แชมป์ในลีกใหญ่ ในปีนี้ ที่เล่นบอลไม่เน้นการครองบอล

ต้องยอมรับว่าจนกว่าทีมใหญ่ๆ อย่าง Arsenal Real Madrid และ Bayern Munich หันมาเล่นบอลในรูปแบบนี้ การครองบอลจะยังคงเป็นสถิติที่ผู้คนให้ราคาต่อไป แต่ Leicester เป็นเครื่องช่วยเตือนความจำที่ดีว่าการครองบอลไม่ควรใช่เป้าหมายภายในตัวของมันเอง เพราะสุดท้ายแล้วทุกทีมต้องการบอลเพื่อยิงประตู ไม่ใช่เพื่อเก็บสถิติให้ได้ 60-70%

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ทำไมนักบอลไทย ไม่ไปค้าแข้งต่างแดน ?








ทำไมนักบอลไทย ไม่ไปค้าแข้งต่างแดน ?


สัปดาห์ที่ผ่านมาคงจะไม่มีข่าวไหนเกินไปกว่า “บิ๊กดีล” ข้ามฝากจากบุรีรัมย์ไปเมืองทองของ “เจ้าอุ้ม” ธีราธร บุญมาทัน อีกแล้วครับ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ดูเหมือนจะมีทีมจากสโมสรใน เจ ลีก ของญี่ปุ่น และ เค ลีก ของเกาหลีใต้ให้ความสนใจ แต่จนแล้วจนรอดก็มีการยืนยันจากผู้บริหารทีมบุรีรัมย์ได้ออกมาเปิดเผยว่ายังไม่มีทีมใดยื่นข้อเสนอเข้ามาอย่างจริงจัง สุดท้ายก็กลายเป็นเมืองทองที่คว้าตัวแบ็คซ้ายกัปตันทีมชาติไทยไปแบบเซอไพรส์พอสมควร

ส่วนตัวเชื่อว่าไม่เพียงแต่เฉพาะ ธีราธร เท่านั้น ยังมีนักฟุตบอลไทยอีกหลายคนที่มีฝีเท้าสามารถไปเล่นในลีกญี่ปุ่น หรือลีกระดับแนวหน้าของเอเชียได้ แต่อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ยังไม่มีผู้เล่นไทยไปค้าแข้งในระดับนั้นได้ก็คือ กฎของสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (AFC) ที่ว่าด้วยโควตาการส่งผู้เล่นต่างชาติลงสนามได้ 3+1 (ผู้เล่นนอกทวีปเอเชีย 3 คน ในทวีปเอเชีย 1 คนและสามารถส่งรายชื่อได้ 5 คน)

เมื่อวิเคราะห์มาถึงประเด็นนี้หากเรามองในมุมของสโมสร ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนผู้เล่นต่างชาติ การเลือกเซ็นสัญญาผู้เล่นในโควตานี้ จึงต้องเป็นผู้เล่นที่สามารถเป็นแกนหลักให้กับทีมได้เท่านั้น ที่สำคัญไม่เพียงแต่ในเฉพาะบ้านเราเท่านั้นที่ลีกฟุตบอลกำลัง “บูม” หากแต่ในทวีปเอเชียด้วยกันนั้นก็มีการทุ่มเงินอย่างมหาศาลที่จะสร้างทีมยิ่งกว่าบ้านเราเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ที่หันมาเอาจริงเอาจังกับลีกในประเทศ ทีมต่างๆยอมควักกระเป๋าซื้อผู้เล่นระดับโลกมาไว้ในครอบครอง ก็ยิ่งทำให้ตลาดเอเชียกลายเป็นแหล่งรายได้ของนักเตะและโค้ชที่ไม่แพ้ลีกอื่นๆในโลกอีกต่อไป ซึ่งผิดไปจากเมื่อก่อนที่นักเตะระดับโลกจะมาเล่นก็ต่อเมื่ออยู่ในวัยที่ใกล้จะเลิกรา กระนั้นก็ตามหากแม้ผู้เล่นไทยคิดจะไปเล่นในดิวิชั่นที่รองลงไป เมื่อมองลงไปถึงค่าเหนื่อยแล้วอาจจะพอๆกัน แถมยังต้องปรับตัวอีก อย่างนี้สู้เป็นตัวหลักเล่นในลีกสูงสุดในบ้านน่าจะดีกว่า

อีกข้อหนึ่งที่เป็นกำแพงสำหรับนักบอลไทยก็คือ เรายังไม่มีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าในรายการแข่งขันระดับเมเจอร์เท่าที่ควร อย่าง ฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ฟุตบอลโอลิมปิก ฟุตบอลเอเชี่ยน คัพ หรือแม้กระทั่งใน AFC แชมเปี้ยนลีก เราก็ยังไม่สามารถสร้างมาตรฐานที่ดีได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของ ธีราธร เมื่อฤดูกาลก่อนเป็นที่จับตามองจากฟอร์มการเล่นที่ดีมากโดยเฉพาะจุดเด่นในเรื่องของ “ฟรีคิก”แต่ฤดูกาลนี้กลับไม่โดดเด่นเหมือนที่ผ่านมา ขออนุญาตเปรียบเทียบกับทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ที่ได้มีโอกาสเล่นในรายการระดับโลก หรือระดับทวีปอยู่เสมอ เราจึงได้เห็นนักตบสาวไทยมีโอกาสไปโกยเงินสกุลอื่นเข้าประเทศยังไงล่ะครับ

เพราะฉะนั้นวันนี้เราคงต้องเริ่มจากภายในประเทศกันก่อนล่ะครับ แม้ลีกเราจะพัฒนาไปพอสมควร แต่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป ที่สำคัญในส่วนของทีมชาติเราต้องประสบความสำเร็จในรายการระดับโลกหรือทวีปให้ได้ วันนี้ทุกคนพร้อมให้การสนับสนุนโดยเฉพาะแฟนบอล ที่สำคัญทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายบริหารและปฏิบัติการของทีมชาตินั้นมีเป้าหมายที่ชัดเจน เหลือแต่เพียงทำให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น การวิเคราะห์ปัญหาที่ถูกจุด การเก็บข้อมูล และการบริหารจัดการเป็นเรื่องสำคัญ หากเราสามารถออกสู่ตลาดโลกได้ก็จะเป็น “วงจรที่สมบูรณ์” นั่นคือผู้เล่นที่ค้าแข้งต่างแดนจะช่วยยกระดับทีมชาติ และทีมชาติก็จะได้ไปเล่นรายการระดับโลกต่อเนื่อง เมื่อต่อเนื่องก็มีผู้เล่นไปค้าแข้งยังต่างแดน หากภาพที่ว่านี้เกิดขึ้นจริงๆ ผลประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติจะตามมาอีกเยอะครับ.......

วันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"เปาไทย" ต้องให้เวลา








เปาไทย” ต้องให้เวลา


ต้องยอมรับครับว่าในอดีตที่ผ่านมา “ผู้ตัดสิน” คือส่วนหนึ่งของปัญหาวงการฟุตบอลบ้านเรา บ่อยครั้งที่เห็นการประท้วงด้วยการ “วอร์คเอาท์” หรือกระทั่งร้ายแรงจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย เนื่องจากความไม่พอใจการทำหน้าที่ในสนาม

แต่ในยุคที่ขั้วอำนาจเปลี่ยนมาอยู่ในมือผู้บริหารสมาคมฟุตบอลฯชุดใหม่ ดูเหมือนปัญหานี้จะเป็นสิ่งแรกๆที่สมาคมตั้งใจจะปรับปรุงพัฒนา ให้มีมาตรฐานอย่างที่ควรจะเป็น และหากสมาคมฯเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการ “เชิ้ตดำ” แล้วล่ะก็ เชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยๆดีขึ้นอย่างแน่นอน

ด้วยความที่ลีกบ้านเราเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราอาจพัฒนาในเรื่องคุณภาพของทีม คุณภาพของกองเชียร์ และการบริหารจัดการด้านอื่นๆ แต่ต้องเห็นใจวงการผู้ตัดสินที่อาจก้าวตามการพัฒนาเหล่านั้นไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของทีมต่างๆมากมายในลีกภูมิภาค นั้นดูเหมือนจะสวนทางกับปริมาณผู้ตัดสินที่มีคุณภาพ การที่แค่มีกรรมการไปทำหน้าที่แต่ละนัดนั้นก็เป็นเรื่องที่ดีถมไปแล้ว ฉะนั้นด้วยความใหม่ประสบการณ์ทั้งของทีมเอง ทั้งกองเชียร์ และผู้ตัดสินเลยทำให้เหตุการณ์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

แล้วจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มปริมาณผู้ตัดสินที่มีคุณภาพให้มากขึ้น เราต้องมองย้อนไปถึงเรื่องของ “ผลตอบแทน” ที่ผู้ตัดสินได้รับด้วยนะครับ ที่ผ่านมาบางคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ด้วยจิตอาสาแลกด้วยค่าตอบแทนอันน้อยนิด แถมยังได้รับความไม่ปลอดภัยในชีวิตอีกต่างหาก ในขณะที่ผลตอบแทนของนักฟุตบอลและบุคลากรอื่นๆวันนี้ต้องบอกว่าสามารถยึดเป็นอาชีพได้อย่างสบาย ขณะที่กรรมการยังได้รับแค่ “เบี้ยเลี้ยง” เท่านั้น กำลังจะชี้ให้เห็นครับว่า หากในอนาคตเราสามารถพัฒนาไปถึงขั้น “ผู้ตัดสินอาชีพ” ให้เค้ามีรายได้ที่สามารถดูแลครอบครัวได้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับการยอมรับในสังคม แน่นอนต้องแลกด้วยการอยู่ในมาตรฐานทั้งสรรถภาพทางกาย และคุณภาพของการตัดสิน โดยมีระบบการประเมินอย่างมีคุณภาพ เชื่อว่าเราจะได้คนที่จะมาทำหน้าที่นี้เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญทุกคนจะพยายามรักษาและพัฒนามาตรฐานการตัดสินของตัวเอง และคงไม่ยอมเอาความมั่นคงของอาชีพรวมถึงเกียรติและศักดิ์ศรีไปแลกกับ “อามิสสินจ้าง” เหมือนที่ผ่านมาอย่างแน่นอน 

กระนั้นก็ตามในฝากฝั่งของสโมสรและกองเชียร์ ต้องตระหนักถึงความจริงข้อหนึ่งที่ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรความผิดพลาดในการตัดสินนั้นย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และนี่คือสิ่งที่เรียกว่า “เสน่ห์” ของฟุตบอล ตอนที่ผมได้มีโอกาสอบรมโค้ชใหม่ๆ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราได้รับการเรียนรู้เป็นเรื่องแรกๆเลยนะครับ จำได้ว่าตอนนั้นวิทยากรคือ “เปาอั๋น” อ.ภิรมย์ อั๋นประเสริฐ ท่านได้บอกไว้ว่าในแต่ละเกมผู้ตัดสินมีโอกาสผิดพลาดได้ถึง 15-20% นั่นหมายความว่าในการเป่านกหวีด 10 ครั้งจะมีความผิดพลาด 2 ครั้ง ซึ่งอาจเป็นผลดีกับเราหรือคู่ต่อสู้ก็ได้ หากเข้าใจตรงนี้คิดว่าเราคงมีมุมมองที่ดีต่อผู้ตัดสินเพิ่มมากขึ้นนะครับ รวมไปถึงเจ้าของทีมทั้งหลายที่มักใช้วาทกรรมที่ว่า “ทีมลงทุนเป็นร้อยล้าน แล้วมาถูกผู้ตัดสินทำลาย” อยากให้มองย้อนกลับไปว่า ณ วันที่คุณตัดสินใจสร้างทีมเรื่องนี้คุณน่าจะรู้ตั้งแต่แรกแล้ว ความผิดพลาด(ในแง่สุจริต) ก็ไม่ต่างอะไรกับการยิงลูกโทษไม่เข้าครับ คุณลงทุนเป็นร้อยล้านเหมือนกันแต่จะฝากไว้แค่การเอาฟุตบอลไปซุกก้นตาข่ายเพียงครั้งเดียวเท่านั้นหรือก็คงจะไม่ใช่

และเท่าที่ผมมีโอกาสได้ไปดูเกมในสนามโดยเฉพาะในระดับไทยพรีเมียร์และ ดิวิชั่น 1 หลังๆนี่ต้องยอมรับครับว่าผู้ตัดสินตัดสินได้ดีขึ้นมาก อาจมีข้อผิดพลาดบ้างแต่พอรับได้ส่วนเรื่องเป่าเอียงนั้นไม่มีให้เห็นแล้วครับ ตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เราคงต้องให้เวลากันอีกนิดนะครับโดยเฉพาะในลีกล่างๆเชื่อว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อมองย้อนมาถึงวันนี้คงจะบอกได้ว่า เรามาได้ไกลกว่าเดิมมากจริงๆ..... 

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ถึงเวลา "บุญมาทัน"








ถึงเวลา “บุญมาทัน”


ดีลการย้ายช็อควงการของเจ้า “อุ้ม” ธีราธร บุญมาทัน ที่ข้ามฟากไปยังทีมคู่ปรับตลอดกาลอย่าง เมืองทอง ยูไนเต็ด นั้นอาจทำลายความรู้สึกของแฟนปราสาทสายสายฟ้าไม่ใช่น้อย แต่ถ้ามองว่ามันคือวิถีของ “ฟุตบอลอาชีพ” ก็คงพอจะทำใจยอมรับได้ ที่สำคัญเหตุการณ์แบบนี้จะอยู่ควบคู่กับฟุตบอลไปตลอด

หากแต่จะกล่าวถึงกรณีของธีราธร ก็ชวนให้น่าแปลกใจไม่น้อยว่าเพราะเหตุใดผู้เล่นที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์และกัปตันของทีม ถึงได้ตัดสินใจเก็บกระเป๋าย้ายรังไปซบทีมคู่แข่ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่อให้ใครเอา 100 ล้านมากองหน้าสนาม ก็อย่าหวังจะได้กระชากตัวแบ็คซ้ายรายนี้ไปจากถิ่นเซาะกราว

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นพร้อมกับผลงานทีมที่ต่ำลง แต่นั่นก็ยังไม่เท่ากับ “ทีมสปิริต” ของบุรีรัมย์ก็เริ่มมีปัญหา อย่างที่ผมเคยบอกไว้ครับว่าปัญหาของบุรีรัมย์นั้นไม่ใช่อยู่ที่ความสามารถของผู้เล่น หากแต่อยู่ที่วิธีการมากกว่า เห็นได้ชัดว่าที่ผ่านมานั้นทีมพึ่งพาความสามารถของผู้เล่นเป็นหลัก เมื่อศูนย์หน้าตัวความหวังอย่าง Diago เจ็บยาวก็ไม่มีใครที่จะสามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้เทียบเท่า  

จนหลังๆเราเห็นภาพที่พยามกระตุ้นให้ผู้เล่นบุรีรัมย์สู้กันจนชินตา ความเป็นจริงแล้วไม่มีนักฟุตบอลคนไหนไม่สู้หรอกครับ ทุกคนลงไปเล่นเต็มที่ทั้งนั้นแหละครับ แต่ประเด็นคือจะให้เค้าสู้แบบไหน ทำอย่างไร เพราะอะไรถึงให้ทำแบบนั้น นี่ต่างหากที่ผู้เล่นอยากได้ยิน ลำพังรายการลีกในประเทศอาศัยความสามารถเฉพาะตัวก็อาจเป็นแชมป์ได้ครับ แต่เมื่อออกไประดับเอเชียที่วัดกันด้วย กึ๋น และแทคติค  ทีมกลับไม่ประสบความสำเร็จ ก็เลยส่งผลถึงผลงานในลีกไปด้วยอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ เมื่อผลงานไม่ดีทั้งที่ทุกคนทำเต็มที่ แรงกดดันก็ย่อมตกอยู่กับตัวหลักของทีมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งเป็นกัปตันทีมด้วยยิ่งต้องแบกรับมากกว่าใครเพื่อนเป็นเท่าทวีคูณ ส่วนตัวคิดว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ บวกกับปัญหาภายในที่เราได้ยินข่าวมาเป็นระยะจนนำมาซึ่งการขึ้นป้าย SALE ในที่สุด

กระนั้นก็ตามค่าตัวในการย้ายครั้งนี้ไม่น่าจะสูงอย่างที่หลายคนเข้าใจ เพราะคนขายอยากขาย แต่คนซื้ออาจไม่ได้ต้องการอยากซื้อมาก่อน ถึงอย่างไรก็คงมีไม่กี่ทีมที่จะสามารถแบกรับค่าเหนื่อยผู้เล่นระดับนี้ได้ และหนึ่งในนั้นก็คือเมืองทองฯ ซึ่งก็น่าจะเป็นดีลคุ้มค่ามากเพราะเจ้าตัวเพิ่งอายุ 26 ปี อายุการใช้งานเหลืออีกนาน งานนี้หวยก็เลยไปออกที่ “เจ้าบาส” พีระพัฒน์ โน้ตชัยยา เจ้าของสัมปทานแบ็คซ้ายคนปัจจุบันที่เจ้าตัวเคยเสียตำแหน่งให้กับอดีตกัปตันบุรีรัมย์ไปแล้วในทีมชาติ เราคงได้เห็นการต่อสู้แย่งชิงตำแหน่งกันอย่างดุเดือด เพราะฟอร์มของเจ้าบาสเองก็คงเส้นคงว่าและดีวันดีคืน ลำบากใจแทน “โค้ชแบน” เลยครับ

สุดท้ายเหตุการณ์ของเจ้าอุ้มเป็นแค่เพียงกรณีศึกษาตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ของปัญหาความเข้าใจในการทำทีมฟุตบอล ซึ่งต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะฟุตบอลไม่ใช่แค่การเอาแค่คนเก่งๆมาอยู่ในทีมแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่การเข้าใจมันอย่างถ่องแท้ต่างหากที่จะทำให้ทีมผ่านพ้นอุปสรรคต่างๆไปได้......

ขอบคุณภาพจาก Spersub Thailand






วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

"วินัย" ก่อให้เกิด "ทีมสปิริต"








วินัย” ก่อให้เกิด “ทีมสปิริต”


ฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นกันเป็นทีม ผลของการแข่งขันไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในแต่ละนัดนั้นไม่ใช่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นผลงานร่วมกันของสมาชิกในทีมทุกคน 

แต่การที่จะได้มาซึ่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนั้น ต้องเริ่มมาจากความเท่าเทียมกันก่อนนะครับ ในที่นี้หมายถึงผู้เล่นทุกคนต้องอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ซ้อม ซ้อมด้วยกัน เหนื่อย เหนื่อยด้วยกัน และอยู่ภายใต้กฎระเบียบที่ปฏิบัติอย่างเสมอภาคกัน เริ่มซ้อมพร้อมกัน เลิกก็ต้องเลิกพร้อมกัน ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ใดๆทั้งสิ้น ต่อให้ให้เป็นผู้เล่น “ตัวเก่ง” ของทีมก็ตาม 

การที่ผู้เล่นทุกคนอยู่ในระเบียบวินัยอันเดียวกันนั้น จะส่งผลถึงการเล่นในสนามด้วยนะครับ โดยเฉพาะในทีมที่โค้ชทำทีมอย่างมีระบบ หากมีผู้เล่นคนใดคนหนึ่งเกิดแหกระบบที่โค้ชได้วางเอาไว้ นั่นหมายถึงแผนการที่วางเอาไว้ก็จะไม่เป็นไปตามนั้น และย่อมส่งผลต่อตำแหน่งอื่นๆและรูปเกมด้วยแน่นอน ผู้เล่นแบบนี้แหละครับที่เรียกว่าเล่น “ไม่เข้าระบบ” ตัวอย่างในระดับโลกก็มีให้เห็น อย่างครั้งหนึ่งที่ ดาวิด ชิโนล่า ถูกปฏิเสธเรียกตัวเข้าสู่ทีมชาติฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลที่เล่นไม่เข้าระบบ หรือแม้แต่ พอล แกสคอยน์ เองก็เคยโดนมาแล้วเหมือนกัน

ผู้เล่นที่เป็น "ซุปเปอร์สตาร์" ตัวจริงนั้น มักจะเป็นผู้เล่นที่มีระเบียบวินัยสูงมาก ทั้งระเบียบวินัยในทีมและวินัยในตัวเอง หาใช่แค่การมีความสามารถสูงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังต้องได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมทีมและโค้ชด้วย ขณะเดียวกันตัวเองก็ให้ความเคารพต่อเพื่อนร่วมทีมและโค้ชด้วยเช่นกัน

เมื่อไรก็ตามที่ “วินัย” ของทีมนั้นหย่อนยานประเภท คนซ้อมไม่ได้ลง คนลงไม่ได้ซ้อม บรรยากาศในทีมก็จะเสียไปทันที ผมเห็นทีมพังเพราะเหตุนี้มานักต่อนัก ในทางตรงข้ามหาก “วินัย” ของทีมเคร่งครัด การแข่งขันของผู้เล่นในทีมนั้นก็จะสูงตามไปด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนย่อมได้รับโอกาสเหมือนๆกัน ขึ้นอยู่กับว่า ณ ตอนนั้นใครดีกว่า สุดท้าย “เป้าหมาย” ของทีมก็จะเกิด ทุกคนจะมุ่งไปสู่ความสำเร็จอันเดียวกันและนั่นคือที่มาของ “ทีมสปิริต” เหมือนอย่างที่วันนี้ทีมเล็กๆที่เปี่ยมไปด้วย “สปิริต” ได้ก้าวไปเป็นแชมป์ในลีกอังกฤษทำให้เห็นกันแล้วยังไงล่ะครับ

Late Cross








6 วิธีการสร้าง Combination of Play ในการเข้าทำประตู (6.2)


Crossing (Late Cross)

ยุทธวิธีการเข้าทำประตูด้วยวิธีการนี้เป็นการโจมตีจากด้านข้าง ผู้ที่ผ่านบอลต้องมีความแม่นยำในการผ่านบอลเข้าไปยังจุดหน้าประตู แต่ที่สำคัญคือตำแหน่งของกองหน้าจะเข้าทำประตูต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและต้องครอบคลุมทั้ง เสาหนึ่ง หากผ่านบอลเลยไปก็ต้องมีผู้เล่นที่เสาสอง และพื้นที่หน้ากรอบกะโหลก ผู้เล่นในตำแหน่งกองกลางจะต้องขึ้นไปประคอง กองหลังก็ต้องกล้าที่จะสนับสนุน และเก็บพื้นที่ให้สมบูรณ์นั่นเอง

ความเข้าใจและสัญชาตญาณย่อมเกิดจากการฝึกซ้อมเสมอ


วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

Don’t Delay Play








Don’t Delay Play……….ไม่เจ็บอย่าอู้


ถึงแม้เกมฟุตบอลจะต้องอาศัยกลยุทธ์และยุทธวิธีต่างๆในการเอาชนะซึ่งกันและกัน หากแต่การใช้แทคติคการ “ถ่วงเวลา” ด้วยการแกล้งเจ็บนั้น ไม่ใช่วิสัยของการเป็น “มืออาชีพ”

แฟนบอลที่เข้าสนาม ทุกคนล้วนต่างก็เสียค่าตั๋วมาเพื่อชมเกมที่สนุกสนาน และต้องการความตื่นเต้นเร้าใจหาใช่มาดูนักฟุตบอลนอนเพื่อถ่วงเวลาไม่ คุณๆลองสังเกตให้ดีนะครับจะเห็นว่า ในเกมการแข่งขันของลีกใหญ่ๆทั้งหลาย หากผู้เล่นไม่เจ็บจริงหรือพอจะทำการเล่นต่อไปได้ผู้เล่นเหล่านั้นจะไม่ยอมนอนเพื่อเรียกแพทย์ประจำทีมให้เข้ามาทำการปฐมพยาบาลและนั่นคือ “สปิริต” ของการเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างแท้จริง กระทั่งในระดับไทยพรีเมียร์ลีกของเราก็มีการพัฒนาเรื่องนี้ขึ้นเป็นอย่างมาก จนแทบไม่เห็นการอู้เพื่อการถ่วงเวลาซักเท่าไร ซึ่งต้องขอชื่นชมมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

อย่างไรก็ตามเรายังคงเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นอยู่ในการแข่งขันของลีกระดับล่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับภูมิภาค จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อนักฟุตบอลแกล้งเจ็บเพื่อถ่วงเวลา? โดยปกติเมื่อเกิดการบาดเจ็บกรรมการจะอนุญาตให้แพทย์ประจำทีมเข้าไปทำการปฐมพยาบาล และเมื่อแพทย์ไปถึงแล้วพบว่าผู้เล่นไม่เจ็บจริง หากครั้งต่อไปมีเหตุการณ์เหมือนว่าได้รับบาดเจ็บอีก แพทย์อาจไม่รีบร้อนที่จะเข้าไปทำการปฐมพยาบาล แล้วเกิดว่าผู้เล่นเจ็บจริงและร้ายแรง เวลาที่ช้าไปเพียงชั่ววินาทีก็อาจพบความความสูญเสียที่ไม่คาดฝันก็เป็นได้

คุณๆยังจำเหตุการณ์ที่ มาร์ค วิเวียน โฟเอ้ ผู้เล่นทีมชาติแคเมอรูนเสียชีวิตคาสนามในศึก FIFA Confederations Cup 2003 ได้หรือไม่ครับ?(น้องๆรุ่นหลังลองไปหาคลิปดู) แม้เหตุการณ์ในครั้งนั้นทีมแพทย์จะเข้าไปทำการปฐมพยาบาลอย่างเร็วที่สุดแล้ว แต่ก็ไม่อาจยื้อชีวิตของ โฟเอ้ เอาไว้ได้ นั่นจึงเป็นอุทาหรณ์อย่างดีว่าอุบัติเหตุและเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลาในสนามฟุตบอล

วันนี้เราในฐานะแฟนบอลหรือบางคนอาจเป็นผู้ฝึกสอน ได้โปรดอย่าให้การสนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้โดยเฉพาะกับทีมและผู้เล่นที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นสโมสรระดับอาชีพ เรามาช่วยกันยกระดับกันนะครับ แพ้ชนะเป็นเรื่องของเกมกีฬา แต่ “สปิริต” ต้องมาก่อนเสมอ...