วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

"คิดใหม่" บอลไทยไปบอลโลก


           เมื่อผลจับสลากแบ่งสายฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบที่สอง ออกมาเป็นที่เรียบร้อย ปรากฎว่าทีมชาติไทยของเราอยู่กลุ่มเอฟ ร่วมกับ ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, เวียดนาม และ อิรัก โดยที่ในรอบต่อไปจะคัดเอา "แชมป์" กลุ่ม และที่ 2 ที่ดีที่สุดอีก 4 ทีม รวมเป็น 12 ทีมแล้วแบ่งสายละ 6 ทีม เอาที่ 1 และที่ 2 ของแต่ละสายไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซีย 
         
             จากผลการจับฉลากที่ออกมา โอกาสที่ทีมชาติไทยจะได้ไปเล่นรอบคัดเลือกบอลโลกรอบที่ 3 มีโอกาสเป็นไปได้พอสมควรเลยทีเดียวครับ ดูแล้วมีแค่ "อิรัก" ทีมเดียวเท่านั้นที่น่าจะเหนือกว่าทีมชาติไทย ต้องบอกว่าชั่วโมงนี้ ทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย และ เวียดนาม นั้นไม่ใช่คู่แข่งของเรา มองข้ามช็อตไปเลยครับว่างานนี้เป็นการวัดกันระหว่าง "อิรัก" กับ "ไทย" เท่านัน ถ้าเราวางแผนดีๆ เก็บ 3 แต้มก่อนในบ้าน (8 ก.ย.58) แล้วไปลุ้น 1 แต้มในเกมเยือนอิรัก(24 มี.ค.59) นั่นเท่ากับว่าเราเข้ารอบในฐานะ "แชมป์กลุ่ม" ร้อยเปอร์เซ็น หรืออย่างน้อยขอให้มีแต้มทุกนัดที่เล่นกับอิรัก ก็มีโอกาสสูงที่จะเป็นที่ 2 ที่ดีที่สุดได้เช่นกัน

        ประเด็นอยู่ที่การวางแผนขอย้ำเป็นครั้งที่ 3 ว่า "อยู่ที่การวางแผน" ครับ วันนี้เราจำเป็นต้องคิดต่างไปจากอดีต เมื่อก่อนเรามักจะคิดว่าเวลาที่เราเจอกับทีมที่มีอันดับหรือ "แรงค์กิ้ง" ที่เหนือกว่า เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศในแถบตะวันออกกลาง นั้นเราจะเป็นรอง เลยเป็นที่มาของการ "ตั้งรับ" แล้ว "สวนกลับ" ซึ่งดูแล้วก็น่าจะเป็นวิธีการที่ดี แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าที่ผ่านมาเรามักจะเห็นแต่การ ตั้งรับ แล้วไม่ค่อยเห็นการ สวนกลับ นี่สิครับ ท้ายที่สุดเราก็มักจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อยู่เสมอ  เพราะฉนั้นวันนี้ต้องคิดใหม่แล้วครับ หากวิธีการเดิมๆนั้นไม่ได้ผล เราต้องคิดหาหนทางว่าทำอย่างไรจึงจะ "สู้" กับทีมเหล่านั้นได้ ต้องคิดหาหนทางเพื่อเอาชนะครับ เมื่อก่อนเราตั้งรับแล้วสวนกลับนั่นเท่ากับว่า เปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้มาอยู่ในแดน ในกรอบเขตโทษของเรา ดังนั้นโอกาสที่จะเสียประตูก็ย่อมมีมากกว่านั่นเอง หลักคิดมีอยู่ว่าทำอย่างไรที่จะให้คู่ต่อสู้นั้นอยู่หน้าปากประตูเราน้อยที่สุด และทำอย่างไรที่จะทำให้คู่ต่อสู้ตกอยู่ในเกมรับให้ได้นานที่สุด นั่นหมายถึงโอกาสที่เราจะเดินออกจากสนามด้วยการเป็น "ผู้ชนะ" ก็จะเป็นไปได้มาขึ้นด้วยเช่นกัน

         
      เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วตอนที่ผมอบรมโค้ชใหม่ๆก่อนที่ลีกบ้านเราจะบูมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ได้มีโอกาสสัมนาว่าทำไมเราถึงสู้ทีมในระดับชั้นนำของเอเชียไม่ได้ ณ ขณะนั้นทุกคนลงความเห็นกันว่าเราแพ้เรื่อง "เทคนิค" หรือความสามารถเฉพาะตัวเพียงอย่างเดียว ยกเว้นผมที่มองว่า "ไม่จริง" ส่วนตัวผมมองว่าญี่ปุ่นเลี้ยงหลบเราได้ เราก็เลี้ยงหลบญี่ปุ่นได้เหมือนกัน ผ่านบอล 5 หลา 15 แข่งกันก็บอกไม่ได้ครับว่าใครแม่นกว่ากัน วิ่งแข่ง 50 เมตร 80 เมตร ก็บอกไม่ได้ว่าใครเร็วกว่ากัน เราแพ้เรื่องสมรรถภาพนิดๆ แต่ที่เราแพ้จริงๆก็คือเรื่องของ "แทคติค" ครับ ในขณะที่ผู้เล่นญี่ปุ่นเล่นไปคิดไป แต่เรากลับเล่นแบบ 11 คนเล่นไป 11 อย่าง เราแพ้เค้าตรงนี้ครับ แต่ด้วยอานิสงส์ของฟุตบอลลีกที่แข็งแกร่งขึ้น ทำให้ปัจจุบันเทคนิคเราดีขึ้นอีกหน่อย แต่ที่เห็นชัดมากๆ ก็เห็นจะเป็นเรื่องของสมรรถภาพที่เมื่อเรามีนักฟุตบอลอาชีพ การดูแลตัวเองก็เป็นอาชีพ ผมว่าวันนี้กล้ามเนื้อ ความเร็ว ความแข็งแกร่ง เราไม่เป็นรองแล้วนะครับ บวกกับประสบการณ์ในลีกที่ผู้เล่นได้เจอกับผู้เล่นต่างชาติที่มีความสามารถสูงๆ ก็ส่งผลให้ประสบการณ์เราสูงตามไปด้วย ดังนั้นผมจึงเห็นด้วยที่ทีมชาติชุดนี้ไม่จำเป็นต้องมีโค้ชฟิตเนส เพราะสโมสรเป็นคนจัดการเรื่องนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมแล้วนั่นเองครับ แต่ในขณะที่เราพ้ฒนาในด้านอื่นๆผมกลับมองว่าในเรื่องของ "แทคติค" เรายังพัฒนาช้ากว่าด้านอื่นๆมาก ยอมรับครับว่าผมเป็นคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในสนามรัชมังคลาวันที่เกิดปรากฎการณ์ 27 ช็อต ในนัดเจอมาเลเซีย แต่หลังจากนั้นเราไม่เคยเห็นมันเกิดขึ้นอีกเลย นั่นหมายความว่าความเข้าใจของผู้เล่นนั้นเกิดเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการวาง Position ไม่อย่างนั้นมันจะต้องเกิดขึ้นบ่อยกว่านี้ แล้วที่สำคัญวันที่เราได้แชมป์อาเซี่ยน วันนั้นเรา "แพ้" นะครับ 

        ผมกำลังจะบอกว่าวันนี้เรามีปัจจัยและวัตถุดิบที่ดีแล้วเหลือเพียงคนปรุงเท่านั้นที่จะทำให้มันออกมากลมกล่อมที่สุด ขอให้เชื่อครับว่าศักยภาพเราดีพอที่ก้าวไปสู่การเป็นทีมแนวหน้าของเอเชีย แต่ขอเพียงแค่วันนี้ต้องเริ่มด้วยการ "คิดใหม่" เสียก่อนนะครับ

                                                                          
                                                                                                                              CoachChakorn
        

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น